
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย จนทำให้ตึกสร้างใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ต้องถล่มลงมาราบคาบ จนมีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนมากนั้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบทันทีในวันแรกที่เปิดซื้อขายตามปกติ
แม้ว่าหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจและการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะรีบแถลงเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ตั้งแต่ก่อนตลาดเปิดซื้อขาย เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 31 มี.ค. เพื่อลดความ “ตื่นตระหนก” อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นสิ้นวัน SET Index ปิดตลาดที่ระดับ 1,158 จุด ปรับลดลงไป -17.4 จุด (-1.48%) มูลค่าการซื้อขาย 4.0 หมื่นล้านบาท
ฉุดหุ้นช่วงสั้น-เบากว่า “ทรัมป์”
“สุทธิชัย คุ้มวรชัย” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินว่า ผลกระทบต่อในเหตุการณ์แผ่นดินไหว น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และมองว่าไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดซ้ำบ่อย โดยความเสียหายหลักต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเป็นนโยบายภาษีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ หรือสงครามการค้ามากกว่าเหตุแผ่นดินไหว
หากย้อนไปในช่วงเหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 1-2 วัน แล้วทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมา แต่ภาพของเซ็กเตอร์ที่ถูกผลกระทบยังคงมีอยู่ และต้องมีการติดตามว่าจะสามารถพลิกฟื้นได้เร็วมากแค่ไหน
“ต้องบอกว่ารอบนี้ส่วนใหญ่มีการรับรู้ราคาไปในระดับหนึ่ง เพราะหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง การขายสินค้าปรับปรุงบ้าน ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ส่วนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ราคาที่ปรับลดลงไป ก็เริ่มมีการฟื้นขึ้นมา หลังจากนี้ ต้องดูเรื่องการตรวจสอบว่าอาคารต่าง ๆ จะสามารถกลับไปได้เร็วแค่ไหน ความเชื่อมั่นจะกลับมาได้เร็วอย่างไร กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างกลุ่มคอนโดมิเนียม จะชะลอการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มเห็นกระทบบ้างแล้ว อย่างเรื่องของท่องเที่ยว อาจจะมีการยกเลิกเดินทางเข้ามาบ้าง แต่ไม่ได้มาก อย่างร้านอาหารได้รับผลกระทบทันทีหลังเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. แต่หลังจากนั้นคนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น ซึ่งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก อาจจะมีคนไปเดินห้างน้อยลงมาบ้าง โดยทั้งหมดก็คงต้องใช้เวลาในการที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมา
ทุบจีดีพีบีบ กนง.ลดดอกเบี้ย
“สรพล วีระเมธีกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล. กสิกรไทย กล่าวว่า กสิกรไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เม็ดเงินบางส่วนอาจต้องลดการบริโภคลงเพื่อนำเงินไปซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง คาดมีโอกาสเพิ่มน้ำหนักให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในรอบการประชุมวันพุธที่ 30 เม.ย นี้ทันที จากเดิมคาดจะปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2568
หั่นกำไรหุ้น 3 เซ็กเตอร์ใหญ่
“สรพล” กล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้น จะแบ่งผลกระทบออกเป็น 3 เซ็กเตอร์หลัก คือ 1.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 2.กลุ่มท่องเที่ยว และ 3.กลุ่มธนาคาร เนื่องจากผลกระทบแผ่นดินไหวจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการโอนคอนโดมิเนียม และผลกระทบทางอ้อมจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) ของกลุ่มธนาคารที่ชะลอตัวลง โดยประเมินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการชะลอตัวลงทุก ๆ 10% จะส่งผลกระทบต่อกำไรธนาคารประมาณ 1% รวมทั้งจะกดดันจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะมีดาวน์ไซด์
ทั้งนี้ บล.กสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2568 ลดลง 1 บาท เหลือ 90.4 บาท/หุ้น จากเดิม 91.4 บาท/หุ้น โดยมีดาวน์ไซด์ SET Index อยู่ประมาณ 1-2% ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา
“เรามองว่าผลกระทบแผ่นดินไหวอาจยังดูไม่ได้เยอะ แต่ผลกระทบที่จะเยอะจริง ๆ ต้องติดตามวันที่ 2 เม.ย.นี้ ว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะโดนขึ้นภาษีการค้าเท่าไหร่ ถ้าเป็นในกรณีเลวร้ายสุดโดนขึ้นภาษี 25% คาดกดดัน EPS ลดลงเพิ่มอีก 3-4 บาท เหลือกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 88 บาท/หุ้น SET Index จะลงมาแถว 1,100 จุด”
แนะหุ้น 2 ธีมทยอยสะสมได้
“สรพล” กล่าวด้วยว่า สำหรับกลยุทธ์ช่วงสั้น แนะนำหากดัชนีอยู่แถวบริเวณ 1,150 จุด ให้ทยอยสะสมหุ้นปลอดภัย (Defensive) และหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น BDMS, AURA เป็นต้น
กลุ่มวัสดุก่อสร้างรับอานิสงส์
ด้าน “ภราดร เตียรณปราโมทย์” รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อหุ้นแต่ละเซ็กเตอร์มาก-น้อย แตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่กระทบหนัก ๆ คือ อสังหาฯ, โรงพยาบาล, ท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ วัสดุก่อสร้าง
โดยผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างงานตกแต่ง ได้แก่ กระเบื้อง ผนัง และสี (DCC, SCGD, DRT, TOA)