ดอลลาร์แข็งค่า หลังทรัมป์ยืนยันมาตรการภาษี

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่าสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (01/04) ที่ระดับ 33.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/03) ที่ระดับ 33.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐยืนยันว่า มาตรการภาษีตอบโต้ที่เขาเตรียมประกาศในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จะครอบคลุม “ทุกประเทศ” ซึ่งเป็นการสยบกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ที่ว่า เขาอาจจำกัดขอบเขตของมาตรการภาษีดังกล่าว โดยมีผลกับแค่บางประเทศในช่วงแรก

ในขณะที่ทางด้านจีนได้ออกโรงเตือนพร้อมตอบโต้สหรัฐ หากรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังดึงดันจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ชุดใหม่กับจีนในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ของเม็กซิโก ประกาศว่ารัฐบาลเม็กซิโกจะออกมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้แบบครอบคลุมในวันที่ 3 เม.ย. เช่นกัน

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงค่อนข้างจำกัด จากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมเดือนกรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ซึ่งรัฐบาลทรัมป์จะประกาศในวันพุธที่ 2 เม.ย. จะส่งมอบให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าภายในสิ้นปี 2568 ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) จะอยู่ที่ระดับ 3.5% และคาดว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.5 นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2568 ของสหรัฐ ลงมาอยู่ที่ระดับ 1% จาก 1.5% และได้ปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเป็น 35% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 20%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินตัวเลขผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เนื่องจากผลกระทบจะส่งผ่านไปยังหลายช่องทาง โดยผลกระทบทางตรงจะเกิดกับทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงไปบ้าง ซึ่งตัวเลขความเสียหายจะทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดกับความเชื่อมั่น ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ ของภาคธุรกิจและประชาชนที่อาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผลต่อภาคการท่องเที่ยว ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลทำให้ต้องใช้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน (ลดดอกเบี้ย) ต่อเนื่องหรือไม่นั้น นายสักกะภพ มองว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นั้น คณะกรรมการก็ได้ให้น้ำหนักทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะมองว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

ซึ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามา (เหตุแผ่นดินไหว) ก็จะได้นำไปประมวลในที่ประชุม กนง.ครั้งหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. 68 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว

ADVERTISMENT

เนื่องจากจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม และการลงทุนภาคเอกชนลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโคหะมีค่า ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.98-34.14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 34.09/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (01/04) ที่ระดับ 1.0820/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/03) ที่ระดับ 1.0811/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) ว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. เมื่อคำนวณตามมูลค่าที่แท้จริง (หักผลกระทบจากเงินฟ้อแล้ว) เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่เดือน ม.ค.มีการปรับตัวเลขเป็นขยายตัว 0.7%

โดยตัวเลขดังกล่าวออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะไม่มีการเติบโตในเดือน ก.พ. และเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 4.9% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปรับปรุงในเดือน ม.ค.ที่เติบโต 3.3%

ทั้งนี้โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sacks) คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมเดือนเมษายน มิถุนายน และกรกฎาคม ตามลำดับ เนื่องจากคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มอ่อนแอลง โดยถูกกดดันจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โดยโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ตลอดปี 2568 และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของ EU โดยพิจารณาบนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่า EU อาจจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐ

ทั้งนี้คาดว่า GDP ของ EU จะขยายตัวเพียง 0.1%, 0.0% และ 0.2% ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามลำดับ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของ EU ขึ้นสู่ระดับ 2.1% ในไตรมาส 4 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2% นอกเหนือจากนี้ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงย้ำจุดยืนในคาดการณ์ของเธอว่าการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตลดลง 0.3% ในปีแรก และอาจลดลงถึง 0.5% หากมีมาตรการตอบโต้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0800-1.0831 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0828/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (01/04) ที่ระดับ 149.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/03) ที่ระดับ 149.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเหนือระดับ 149 กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยข้อมูลเมื่อวานนี้ (31/03) ระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายเดือน นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

โดยดัชนีผลผลิตภาคโรงงานและเหมืองแร่ที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว อยู่ที่ระดับ 102.4 เทียบกับฐานปี 2563 ที่ 100 ตัวเลขเบื้องต้นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดัชนีลดลง 1.1% ในเดือน ม.ค. ทั้งนี้ แม้จะมีการเพิ่มขึ้นรายเดือน แต่ METI ยังคงการประเมินพื้นฐานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม “มีความผันผวนไม่แน่นอน”

นอกจากนี้ จากการสำรวจผู้ผลิต METI คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน มี.ค. และ 0.1% ในเดือน เม.ย. และ METI ยังเปิดเผยอีกว่าการเติบโตของยอดค้าปลีกญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.0% และส่งสัญญาณถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงภายนอก โดยการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีดังกล่าวถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตที่ 4.4% นเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.51-150.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่นเปิดเผยอัตราว่างงานเดือน ก.พ., ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1/2568 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.จาก Jibun Bank, จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มี.ค.จากไฉซิน, อังกฤษเปิดเผยราคาบ้านเดือน มี.ค.จากเนชันไวด์ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. จาก S&P Global,

ฝรั่งเศสเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. จาก HCOB, เยอรมนีเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. จาก HCOB, อียูเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. จาก HCOB, อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. (ประมาณการเบื้องต้น) และอัตราว่างงานเดือน ก.พ.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.8/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.75/-3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ