คลังเล็งต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง บ้านไม่เกิน 7 ล้าน ควบคู่ผ่อน LTV

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
เผ่าภูมิ โรจนสกุล

เผ่าภูมิเผยหากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง-ผ่อนเกณฑ์ LTV หากใช้พร้อมกัน หนุนตลาดขยายตัวได้ถึง 9.7%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงทิศทางและมาตรการส่งเสริมที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาคที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีบทบาทที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง ทั้งในด้านการก่อสร้าง การผลิตวัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน และการกระตุ้นภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทบต่อจีดีพีโดยตรง หากเศรษฐกิจภาคอสังหาฯขยายตัวก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม แต่หากหดตัวก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มี 2 มาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ มาตรการ LTV (Loan to Value) และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยจะออกให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องช่วยกระตุ้นดีมานด์และซัพพลายให้สมดุล โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ยังเร็วไปที่จะประเมินผลต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยขณะนี้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

หากมีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและใช้หลักวิทยาศาสตร์เป็นฐานข้อมูล ล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานว่ายอดการโอนที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สะท้อนการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของรัฐบาลทำได้ดีและรวดเร็ว

“ใน 2 วันหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เราเห็นการกลับเข้าสู่เทรนด์เดิมของยอดการโอนในตึกสูง ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นได้อย่างรวดเร็วจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาล ซึ่งทำได้ดีและรวดเร็ว ซึ่งในมุมมองของผม การฟื้นฟูนี้ถือว่าเป็นการกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติอย่างรวดเร็ว แม้จะมีความคิดเห็นต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างทันท่วงที” รมช.คลังกล่าว

ADVERTISMENT

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ภาพรวมปีนี้คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวดี สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2568 คาดว่าหากภาครัฐผลักดันมาตรการกระตุ้น เช่น ปรับเกณฑ์ LTV และลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ยอดโอนอสังหาฯเติบโต 9.7% โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท

“ข้อมูลชี้ว่า หากใช้มาตรการเพียง 1 อย่าง ซัพพลายจะโต 16.8% และดีมานด์เพิ่ม 1.6% แต่หากไม่มีมาตรการเลย ซัพพลายจะหดตัว -0.8% และดีมานด์ลดลง -3.5% อย่างไรก็ตาม หากใช้ 2 มาตรการควบคู่กัน ซัพพลายจะขยายตัวถึง 22.6% และยอดโอนเติบโต 9.7% มาตรการจะเพิ่มขึ้น 1.6% แต่หากไม่มีมาตรการเลย ดีมานด์จะลดลง -3.5% อย่างไรก็ตาม หากใช้ 2 มาตรการพร้อมกัน ยอดการโอนจะขยายตัวได้ถึง 9.7%” นายเผ่าภูมิกล่าว

ADVERTISMENT

ดังนั้น ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ