
“พลังงานบริสุทธิ์” ประชุมบอร์ดวาระพิเศษ อนุมัติโอนกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “นครสวรรค์-ลำปาง” ให้บริษัทลูก “เอททูลอสบา เอ็นเนอร์ยี่ 1” มีมูลค่าทางบัญชี 10,082 ล้าน หวังปรับโครงสร้างกิจการ เพิ่มความชัดเจน-คล่องตัว เตรียมชงผู้ถือหุ้น 25 เม.ย.นี้
นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ขอแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งพิเศษที่ 2/2568 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยที่ประชุมฯได้มีมติสำคัญให้อนุมัติเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างกิจการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยการโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer : PBT)
ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 โครงการ ที่สาขาจังหวัดนครสวรรค์ และสาขาจังหวัดลำปาง ที่มีขนาดกำลังการผลิตโครงการละ 90 เมกะวัตต์ (ธุรกิจโรงไฟฟ้า) ให้แก่ บริษัท เอททูลอสบา เอ็นเนอร์ยี่ 1 จำกัด (ผู้รับโอน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท (โดยบริษัทถือหุ้นทางอ้อมในผู้รับโอนผ่าน บริษัท อีเอ รีนิวเอเบิล โฮลดิง จำกัด (ERH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดย ERH ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด)
โดยบริษัทจะโอนทรัพย์สินและหนี้สินที่มีความจำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างกิจการเพื่อเพิ่มความชัดเจนและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน (Financing Capability) และการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคต
โดยมูลค่าของการโอนกิจการบางส่วน จะประเมินราคาตามมูลค่าบัญชี (Book Value) หรือราคาทางบัญชีที่ปรับปรุงมูลค่าทางบัญชี (Adjusted Book Value) หรือมูลค่าตามราคายุติธรรม (Fair Value) ของกิจการที่โอน โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 10,082.37 ล้านบาท อย่างไรก็ดีจะพิจารณาตามประเภทของทรัพย์สินและหนี้สินที่จะโอน ณ วันโอนกิจการ รวมถึงการเข้าทำสัญญาโอนกิจการบางส่วน ข้อตกลง สัญญา
อื่น ๆ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโอนกิจการบางส่วนให้ผู้รับโอน (ธุรกรรมการโอนกิจการบางส่วน)
ธุรกรรมการโอนกิจการบางส่วนให้แก่ผู้รับโอน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท จึงไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อทรัพย์สินรวมของกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด และไม่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
อย่างไรก็ดี ธุรกรรมการโอนกิจการบางส่วนต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้โอนกิจการ ตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรเรื่องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน