
“กอบศักดิ์” มองสหรัฐ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย 36-37% เป็น “ระเบิด” ที่แรงกว่าที่คิด มองภูมิภาคอาเซียน โดนหนัก เหตุถูกโยงเป็นโครงข่าย-พันธมิตรกับจีน แนะทางออก 3-4 ด้าน เร่งเจรจา ผ่อนหนักเป็นเบา-ลดพึ่งพาตลาดสหรัฐ เชื่อยังมีช่องเจรจา-ยกเว้นบางรายการได้ อาจเหลือเพียง 27-29% คาดสหรัฐ ต้องการไทยเป็นเพื่อนมากกว่าศัตรู ย้ำเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ยังมีอาฟเตอร์ช็อก On Top มาอีกหลากหลายรูปแบบ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในรายการของ “Suthichai” ในหัวข้อ “ระเบิด ภาษีทรัมป์ ถล่มโลก” ว่า ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) จากไทยในอัตรา 36% ยอมรับว่า ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างตกใจและสูงกว่าที่คิดไว้ จากเดิมที่เคยประเมินกันไว้ว่าจีนจะโดน 60% ประเทศอื่น 10-20% และไทยน่าจะอยู่ที่ 25% ถือว่าเยอะแล้ว แต่ตัวเลขออกมาจริง คือ 36% และในเอกสารระบุเป็น 37% ถือเป็น “ระเบิด” ที่แรงกว่าที่คิด จากเดิมคิดว่า “ระเบิด” จะไปอยู่ที่จีนและยุโรปเป็นหลัก
ทั้งนี้ อัตราการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มขั้นต่ำ 10% จะขึ้นกับทุกประเทศขั้นต่ำ เนื่องจากสหรัฐ มองว่า การเก็บลักษณะนี้จะช่วยลดการขาดดุลของรัฐบาลได้เหมือนครั้งก่อนหน้า โดยจะสามารถเก็บภาษีได้ 3 แสนล้านดอลลาร์ และ 2.กลุ่มอัตรา 10-20% จะเป็นกลุ่มยุโรป 3.กลุ่มอัตรา 20-30% เช่น มาเลเซีย 24%
4.กลุ่มอัตรา 30-40% จะเป็นประเทศจีน 34% และไทย 36% และ 5.กลุ่มอัตรา 40-50% ซึ่งประเทศที่โดนเยอะสุด 50% จะเป็นประเทศเลโซโท ในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ จะเห็นว่ายุโรปขาดดุลการค้ากับสหรัฐ ค่อนข้างสูง แต่โดยเรียกเก็บอัตราภาษีเพียง 20%
ดังนั้น สะท้อนว่า พื้นที่เป้าหมายสำคัญ คือ ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ซึ่งอาเซียนเกินดุลสหรัฐ ค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากจีนมาตั้งโรงงานและสวมรอยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ โดยอาเซียนจะโดนเรียกเก็บเยอะกว่าเอเชีย เช่น กัมพูชา 49% สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 45% เนื่องจากมองว่ากลุ่ม CLMV เป็นโครงข่ายและเป็นพันธมิตรกับจีน ขณะที่ ภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น 24% เกาหลี 26% อินเดีย 27% ไต้หวัน 32% และจีน 34% ซึ่งอาจจะโดนเพิ่มขึ้นอีก (On Top) เป็น 54%
อย่างไรก็ดี หากดูการคำนวณของการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งมีการระบุว่า ไทย ได้คิดภาษีนำเข้าสหรัฐ ถึง 72% จะมาจากการคำนวณภาษีสินค้านำเข้า และไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เช่น ภาคการเงิน ประเทศไทยกีดกันไม่ให้สหรัฐ เข้ามาตั้งธนาคาร หรือดิจิทัลเทรด และข้อจำกัดจากการลงทุน ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคการค้า ตลอดจนการบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) ให้ค่าเงินอ่อนค่า เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย มองว่าเป็นการตั้งใจทำให้สินค้าสหรัฐ แพงขึ้น จึงต้องถูกลงโทษ
ขณะเดียวกัน ในเอกสารจะมีการระบุถึงสินค้าที่มีข้อยกเว้น 500 รายการ ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ มีอยู่ในกลุ่มข้อยกเว้นด้วย ดังนั้น อาจจะต้องดูรายละเอียดและคิดอัตราที่คิดจริงสุทธิ อาจจะเหลืออัตราภาษีนำเข้าเพียง 27-29% เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าผลกระทบจริง ๆ คืออะไร
“การคิดอัตราภาษีดังกล่าว ทรัมป์ได้บอกว่าใจดีแล้ว เพราะลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่งจากที่เคยโดนเก็บ และก็น่าคิดว่า สปป.ลาว กัมพูชา ทำอะไรให้สหรัฐ ถึงโดนเรียกเก็บสูง และหากไทยเทียบ อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 18% และสิงคโปร์ 10% อย่างไรก็ดี ในเอกสาร USTR ระบุว่า ประธานธิบดีสามารถปรับอัตราภาษีขึ้นลงได้ หากประเทศนั้นสามารถปรับแก้ตามเอกสาร USTR ได้หรือไม่ และระบุว่าหากตอบโต้กลับจะเจออัตราภาษีรอบ 2 และ 3 ได้เช่นกัน และหากยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนค่าจะยิ่งโดนบวกภาษีเพิ่มขึ้นอีก สิ่งที่เห็นเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น”
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการเก็บอัตราภาษี จะเห็นประเทศแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ประเทศที่ตอบโต้ เช่น จีน ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์ลุมลาม 2.ประเทศที่ยอม จะเป็นประเทศที่โดนเรียกเก็บน้อย เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย โดนเรียกเก็บเพียง 10% และ 3.ประเทศที่อยากเจรจา ส่วนประเทศเม็กซิโก และแคนนาดา จะเป็นประเทศที่เลื่อนและถูกจัดคนละกลุ่ม เนื่องจากสหรัฐ มีการใช้ซัพพลานเชนร่วมกับเม็กซิโกในการผลิตรถยนต์ และมีการส่งชิ้นส่วนไป-กลับ 8 รอบ ซึ่งจะขึ้นรอบละ 25% คงเป็นไปไม่ได้ จึงมีการชะลอและเลื่อนออกไปก่อน
ดังนั้น หลังจากนี้ “สงครามการค้า” จะทำให้ “เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน” นำมาถึงการส่งออกลดลง เศรษฐกิจโลกผลิตได้น้อยลง คนตกงานมากขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง ซึ่งเริ่มเห็นคนพูดถึง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ Recession มีโอกาสมากขึ้น แต่ตัวจริงยังไม่มา ซึ่งอาจต้องรอดูสหรัฐ เพราะสหรัฐ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจดีอยู่ แต่สหรัฐ จะปรับตัวอย่างไร และอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นมากน้อยขนาดไหน ทำให้เศรษฐกิจมีลมต้าน (Head Wind) และการส่งออกของไทยไม่ง่ายอย่างที่คิด
ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำจะมี 3-4 เรื่อง ได้แก่ 1.ผ่อนหนักเป็นเบา ในปัญหามีโอกาส เพราะมีประเทศอื่นที่โดนมากกว่า อย่าตื่นเต้นกับตัวเลข 36-37% แต่ไทยจะต้องเทียบกับคู่แข่งตัวสำคัญ และจะมองว่าว่าไทยโดนภาษีเท่าไร จึงต้องหาช่องตรงนี้
และ 2.เจรจากับสหรัฐ ซึ่งหากเก็บอัตรา 15% อาจยอมได้ แต่ 37% มองว่าเยอะไป และหากดูลิสต์รายการใน USTR มีบางอย่างที่สามารถคุยกับสหรัฐ ได้ และไทยเองต้องดูตัวเองว่ามี “ไพ่” อะไรในมือ ซึ่งไพ่ในมือเรา คือ ความมั่นคงของสหรัฐ เพราะสหรัฐ กังวลใจในภูมิภาคอาเซียน เพราะไม่อยากให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนทั้งหมด และสหรัฐ อยากมีพันธมิตรที่ไว้ใจได้ และประเทศไทยเป็นประเทศหลักในอาเซียน จึงมองว่า สหรัฐ อยากให้ไทยเป็นเพื่อน (Friend) ไม่ใช่ศัตรู (foe)
“ตอนนี้เป็นช่วง Low Season ของการส่งออก ไม่ใช่ High Season เราจึงมีเวลาในการเจรจา หรือมีวิธีการยื่นหมูยื่นแมว การเจรจาจะมีผล เพราะสหรัฐ เขาอยากให้เราเป็นเพื่อน เราจึงต้องไปดูในลิสต์ว่าเราซื้อของอะไรเขาได้บ้าง เราต้องหาทางออก เพราะ 37% ไม่น้อยเลย ซึ่งมีการยกเว้นบางส่วน ต้องมีการเจรจา และยกเว้นไปเรื่อย ๆ จะน้อยกว่า 37% โดยเราต้องไปดูเซ็กเมนต์สำคัญของเรา เพราะเราอยู่ในฐานเจรจาได้”
3.ลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ เพราะในระยะยาวโลกจะเปลี่ยนแปลงไป และโลกจะย้ายมาอยู่ที่เอเชียเป็นหลัก เพราะคนเกินครึ่งอยู่ในเอเชีย และเศรษฐกิจหลักของเอเชียจะก้าวขึ้นกลายเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของโลกต่อไป เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ที่ผ่านมาการค้าขายจะค้าขายกับคนใกล้กัน ซึ่งไทยมีสัดส่วนการค้าขายกับสหรัฐ 18%
ดังนั้น จะต้องทำให้สัดส่วนตรงนี้ลดลงเหลือ 16% ให้ได้ เหมือนจีนที่เคยทำในครั้งก่อน โดยหันมาพึ่งพาภายในประเทศ และภูมิภาคแทน ทำให้รอบนี้จีนไม่ได้ตื่นเต้น ซึ่งไทยควรมองไปยังตลาดอินเดีย อาเซียน รวมถึงยุโรป เพราะเป็นประเทศที่มี “War Story” ร่วมกัน เป็นโอกาสของไทยที่จะเปิดกว้างมากขึ้น เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ หรือแอฟริกา เป็นต้น
และ 4.ผลทางอ้อม ซึ่งการปรับอัตราภาษีครั้ง เป็นเกมที่ต้องการทำลาย และมีการตอบโต้กันมากขึ้น ทำให้จะมีสินค้าจีนผ่องถ่ายมาที่ไทยมากขึ้น และเป็นการตีตลาดไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ “ปัญหาภาคการส่งออก” แต่เป็นปัญหา “ภาคการผลิต” เพราะสินค้าจีนจะเข้ามาในไทย ดังนั้น จะต้องเตรียมตัวรับมือ และปกป้องสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นอีกระดับ ซึ่งอาจจะร่วมมือกับภาคการเงิน เช่น ร่วมกับธนาคารในการออกมาตรการ Transform ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็นแค่ส่วนเดียวของกลยุทธ์ 3 ชั้น ที่จะประกอบด้วย 1.การขึ้นระดับประเทศ 2.รายอุตสาหกรรม เช่น จีน ที่โดนอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม และสุดท้าย 3.ระดับโรงงาน เช่น จีนที่แปลงร่างมาอยู่ไทย และอาศัยบ้านเราและส่งออกไปสหรัฐ โดยการแต่งองค์เป็นสิงคโปร์ และมาที่บ้านเรา แม้ว่าจะมีสิงคโปร์ถือหุ้น 49% และไทย แต่จริง ๆ คือ จีน 100% ซึ่งสหรัฐ มองทะลุเหมือนที่ทำเรื่องของโซลาร์ในเวียดนามและไทย และมีหลายเลเยอร์ ดังนั้น จึงมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Trade War ที่กำลังก่อตัวขึ้น และมาอีกหลากหลายรูปแบบ
“ทรัมป์ ต้องการ Restructure โลก ซึ่งเรามองว่า จริง และตอนนี้ฝุ่นตลบ โดยสิ่งที่น่ากังวลใจ คือ แผ่นดินไหว เราจะเห็นว่ามี อาฟเตอร์ช็อกตามมาบ้าง แต่การปรับขึ้นภาษีเป็น On Top เช่น จีน ก่อนหน้านี้โดนไปแล้ว 20-25% และรวมครั้งนี้อีกสินค้าจีนจะอยู่ที่ 80% ทำให้ตลาดจะเปลี่ยนไปอีกแบบ ดังนั้น อาฟเตอร์ช็อกตามมาไม่ใช่แผ่นดินไหว แต่เป็น On Top ที่เป็นยาพิษที่สะสมเรื่อย ๆ ยิ่งนานวันระบบจะแย่งลงเรื่อย ๆ”