บาทอ่อนค่า ตอบรับมาตรการภาษีสหรัฐ

ค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (3/4) ที่ระดับ 34.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/4) ที่ระดับ 34.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์เปิดตลาดอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลักโดย Dollar Index ปรับตัวลงเล็กน้อยแถวระดับ 103.19 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันพุธ (2/4) เพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariffs) ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าสู่สหรัฐในอัตรา 10% และมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับคู่ค้าบางประเทศ

โดยประเทศไทยถูกปรับขึ้นภาษี 36% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของทั่วโลก สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมาออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงก์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 120,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 84,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ.

ด้านปัจจัยในประเทศวันนี้ (3/4) ทางรัฐบาลได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับสหรัฐ เพื่อปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย และแสดงเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตรทางด้านการค้ากับสหรัฐ นอกจากนี้ทางด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้คงคาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% ตามเดิม โดยยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ แต่ขอหารือกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นรายสินค้าแต่ละตัว

ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า เมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ส่งออกไปได้ลดลง โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนเนื่องจากประเทศคู่แข่งเสียภาษีน้อยกว่า ได้แก่ สับปะรด (ฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์ยางพารา (มาเลเซีย)

ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการเข้ามาทำตลาดของประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า ทั้งนี้ ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 34.25-34.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (3/4) ที่ระดับ 1.0902/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/4) ที่ระดับ 1.0797/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ (3/4) คุณเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้กล่าวผ่านไลฟ์สตรีมว่า การตัดสินใจขึ้นภาษีของสหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมย้ำว่าสหภาพยุโรปต้องการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า ไม่ใช่สร้างกำแพงเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าสหภาพยุโรปเองก็มีความกังวลเช่นเดียวกับสหรัฐ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในเวทีโลก แต่ก็เตือนสหรัฐว่าการใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือแรกและเครื่องมือสุดท้ายจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งหากการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ประสบความสำเร็จ ทางสหภาพยุโรปอาจออกมาตรการภาษีตอบโต้ระลอกใหม่ซึ่งอาจรวมถึงการนำภาษีเดิมที่เคยถูกระงับไว้กลับมาบังคับใช้ ควบคู่ไปกับการเก็บภาษีเพิ่มเติมในสินค้าใหม่ ๆ เพิ่ม

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0806-1.1020 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1007/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้านี้ (3/4) ที่ระดับ 147.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/4) ที่ระดับ 149.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนเปิดตลาดแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนได้เทขายดอลลาร์เพื่อซื้อเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการภาษีซึ่งสร้างความกังวลให้ตลาดโลก

โดยคุณโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของญี่ปุ่น ได้กล่าวในวันนี้ (3/4) ว่า ญี่ปุ่นจะเดินหน้าขอยกเว้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐต่อไป หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับญี่ปุ่นในอัตรา 24% ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9-11 มี.ค. รมว.การค้าญี่ปุ่นได้นำคณะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ

รวมถึงการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐยอมยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญของญี่ปุ่น เช่น รถยนต์และเหล็ก แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของญี่ปุ่นจะไม่เป็นผล ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนอยู่ในกรอบระหว่าง 146.70-149.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.81/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (3/4), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (3/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (3/4), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (4/4), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (4/4), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐ (4/4) และการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) (4/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.1/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.7/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ