
หุ้นกู้ Q1 เลื่อนจ่าย 8.8 พันล้าน ThaiBMA ยันแผ่นดินไหวไม่กระทบอสังหา จ่อครบดีล 1.2 แสนล้าน คงเป้าหุ้นกู้เอกชนออกปีนี้ 8.5-9 แสนล้านบาท ปัจจัยหนุนจากดอกเบี้ยปรับลดลง คาด กนง.ลดอีก 1-2 ครั้งช่วงกลางปีนี้
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 1/68 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระทั้งหมด 3 ราย มูลค่า 1,605 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ลดลงจากปี 2567 ที่ผิดนัด 5 ราย มูลค่า ถึง 3,172 ล้านบาท ขณะที่หุ้นกู้ที่ถูกเลื่อนกำหนดชำระรวมมูลค่าสูงถึง 8,841 ล้านบาท จาก 9 ราย โดยเป็นรายเก่า 4 ราย และรายใหม่ 5 ราย
สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี‘68 มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปีที่มีมูลค่ารวม 686,004 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มธนาคารมากที่สุด ที่ 144.655 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอสังหาฯ ที่ 121,054 ล้านบาท และกลุ่มพลังงาน ที่ 85,467 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจำนวนบริษัทที่จะผิดนัดชำระหุ้นกู้ปี 68 จะน้อยลงจากปีก่อน เนื่องจากเมื่อมีสัญญาณว่าจะผิดนัดบริษัทส่วนใหญ่จะมีการเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ก่อน ไม่ปล่อยให้ถึงกำหนด ส่งผลให้จำนวนหุ้นกู้ที่มีการเลื่อนกำหนดชำระเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงวันที่ 28 มี.ค 68 ที่ผ่านมา มองว่าบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่แน่นอนว่านักลงทุนจะเริ่มสะท้อนว่าบริษัทใดทำได้ดี หรือความเสียหายน้อยก็อาจจะเป็นผลบวกและได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมีหลายบริษัทที่ไม่ได้จัดเรตติ้ง หรือเรตติ้งต่ำก็สามารถผ่านเคสรอบนี้ได้ ส่วนบริษัทที่มีเรตติ้งสูงแล้ว มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอยู่แล้ว
“อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานกาณ์ต่อไป โดยผู้ออกตราสารหนี้ที่ผ่านมา หลายเซกเตอร์ก็ได้ผ่านหลายวิกฤติมาแล้ว และก็ทำได้ดี สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เช่นเดิม ครั้งนี้เชื่อว่าอสังหาก็จะผ่านไปได้”
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 203,486 ล้านบาท ลดลง 1.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade โดยรวมมีการออกมากกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yield มีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy Property และ Finance ตามลำดับ
โดย ThaiBMA ยังคงคาดการณ์การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนปีนี้ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้ มีปัจจัยบวกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะหลังแผ่นดินไหว พบว่าผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลงเฉลี่ย 12-15 bps. ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้บางส่วนมีแรงจูงใจออกหุ้นกู้เร็วขึ้น หรือเพิ่มวงเงินในการออก เพราะดอกเบี้ยปรับลงเร็ว
สำหรับผลการสำรวจคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปราว 1-2ครั้ง รวม 0.25-0.50% ลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% จากปัจจุบันที่ 2.00% ซึ่งการปรับลด 2 ครั้งในปีนี้ รองรับนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษีไทย 36%
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 มีการปรับตัวในทิศทางขาลงโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลักจากที่กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ10 ปี ปรับตัวลดลง 31-35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ
ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 ของหุ้นกู้อันดับเครดิตต่างๆ ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A และ BBB+ ปรับตัวลดลง 26-52 bps. มาอยู่ที่ระดับ 2.29% 2.63% 3.01% และ 4.31% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568
กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นการซื้อสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 10,297 ล้านบาท โดยเป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือนมกราคม ก่อนพลิกกลับมาเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมรวม 22,286 ล้านบาท หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์
ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 8.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.4 ปี ลดลงจาก 8.7 ปีเมื่อสิ้นปี 2567
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 4-7 pbs. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเป็นสำคัญ
ดร. สมจินต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามากกระทบ ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่อาจกระทบ เช่น กลุ่มอสังหา แต่เชื่อว่าระดับความตื่นตระหนกก็จะค่อยๆเปลี่ยนไป และเวลาผ่านไปความชัดเจนจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ที่เก็บจากไทย 36 % ก็อาจจะส่งผลกระทบการค้าระหว่างประเทศ แต่การปรับตัวจะเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่เราต้องติดตาม
“สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม และกระทบต่อบางเซกเตอร์เป็นพิเศษ ซึ่งบริษัทก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับลูกค้า ส่วนตลาดการเงินก็น่าจะมีความระมัดระวังขึ้น การระดมทุนก็จะมีความท้าทายขึ้น ที่ต้องการบ้านในการดำเนินธุรกิจ และการชำระเงินที่ละเอียดรอบคอบในการสื่อสารต่อผู้ลงทุน”