
พิชัยร่วมประชุมหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ถกแผนปรับสมดุลการค้าสหรัฐ ลุยนำเข้าสินค้ามากขึ้นเพื่อมาผลิตและส่งออก คาด 2-3 สัปดาห์บินเจรจาปมขึ้นภาษีตอบโต้ 36% สมมุติหากไม่มีแผนรองรับจะกระทบจีดีพีไทย 1%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดที่เข้าสู่สหรัฐ และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับอีกหลายสิบประเทศ
ด้านประเทศไทยถูกเก็บถึง 36% ว่าเนื่องจากได้หารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อช่วงเช้า จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาปัญหาที่แท้จริงว่าสหรัฐอเมริกาต้องการอะไร
“เรารู้ว่าวันนี้อเมริกาเสียเปรียบดุลการค้าคนทั่วโลก เนื่องจากนําเข้ามากกว่าส่งออก และไม่สามารถส่งออกไปประเทศคู่ค้าได้ ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าของสหรัฐอยู่ที่ 40,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท” นายพิชัยกล่าว
ขณะที่ประเทศไทยส่งออกอยู่ที่ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มียอดเกินดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า 70% จึงทำให้ทางสหรัฐต้องการที่จะเพิ่มภาษีตอบโต้ เพื่อให้ประเทศคู้ค้าส่งออกน้อยลง และรับสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น หากไทยจะลดการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งพื้นฐานสำคัญของประเทศคือการส่งออกต้องเข้มแข็ง ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีการตอบโต้การประกาศขึ้นภาษีดังกล่าว แต่ในทางกลับกันไทยจะเป็นคู่ค้าที่ดีของสหรัฐต่อไป
โดยไทยจะใช้แนวทางเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าที่นำเข้ามาก็ต้องนำมาผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐให้มากขึ้น เพื่อปรับสมดุลการค้า หรือทำให้ดุลการค้าที่ไทยได้จากสหรัฐลดลง
หากยกตัวอย่างสินค้าที่ไทยจะนำเข้าจากสหรัฐให้มากขึ้น คือสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดที่ไทยผลิตไม่เพียงพอ ปลาทูน่าที่ไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลก จึงอาจนำเข้าเพิ่ม รวมถึงเนื้อหมูจากสหรัฐ เพื่อลดช่องว่างของการได้เปรียบทางการค้า
ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องลดกฎเกณฑ์หรือภาษีนำเข้าสินค้าที่สหรัฐมองว่าเป็นกำแพงกีดกันทางการค้า เช่น กรณีภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันที่ตั้งกำแพงภาษีไว้สูง 60-80% ทั้ง ๆ ที่เป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถและผลิตมานาน ซึ่งสหรัฐต้องการนำเข้ารถฮาร์ลีย์ฯ ดังนั้น กำแพงภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์สามารถลดลงมาได้ ซึ่งคิดว่าเหลือแค่ 10% ไทยก็ยังสามารถแข่งขันได้
“อย่าให้เขาระแวงเลยก็จะดี เพราะงั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เราทําเหล่านี้ ทั้งสิ่งที่จะทํา พอจะสรุปได้ว่าเรายินดีที่จะปรับสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในเชิงของการนําเข้าและเพื่อส่งเสริมการส่งออก เพราะไทยยังต้องการรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลยอมลดปริมาณเกินดุลการค้า เมื่ออีกทางหนึ่งเราผลักดันการส่งออกเพิ่ม ยิ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศเพิ่มในอีกทางหนึ่ง” นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมออกมาตรการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เพราะหากไม่ดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 1% ของจีดีพี โดยข้อสรุปการหารือจะมีการทำรายละเอียดของมาตรการ และหลังจากนั้นตนจะเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐด้วยตัวเองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยจากการประเมิน สมมุติว่าหากเราไม่ทำอะไร ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อจีดีพีที่ 1% ซึ่งจะต้องหามาตรการมารองรับในส่วนที่หายไป