KKP ชี้ ทรัมป์ขึ้นภาษีไทย ฉุด GDP 1.1% หวั่นเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 ดร.พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย ฉุดจีดีพีถึง 1.1% เสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอย แนะทางเลือกไทยต้องเจรจาต่อรองกนง.หั่นดอกเบี้ยปีนี้เหลือ 1.5%

 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า หลังการประกาศขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยประเทศไทยโดนเรียกเก็บภาษีถึง 36-37% ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอัตราภาษีที่สูงมาก ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาจจะเห็นภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากภาษียังอยู่ในระดับสูง และสหรัฐก็อาจอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอแต่เงินเฟ้อขึ้น หรือ stagflation แต่ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกจะเจอเศรษฐกิจชะลอ แต่ราคาสินค้าในประเทศลดลง หรือ deflation

“เราจึงประเมินว่าอัตราภาษีที่สูงมากขนาดนี้ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ทั้งปี เพราะถ้าเก็บอัตราภาษีเท่านี้จริง เชื่อว่าภายในไม่ถึง 1 ปี เศรษฐกิจสหรัฐแย่แน่นอน เงินเฟ้อจะสูงขึ้น เชื่อว่าจะเป็นการขู่ และเรียกคนเข้ามานำเสนอเงื่อนไขที่เขาอยากจะได้”

โดยเหตุผลที่สหรัฐใช้นโยบายอัตราภาษีนำเข้า ประเมินว่า มี 5 อย่าง ได้แก่ 1.ทรัมป์เชื่อว่าทุกปีนำเข้าสินค้าปีละ 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ หากเก็บภาษีนำเข้าจะทำให้สหรัฐมีรายได้ปีละ 100-400 พันล้านดอลลาร์ 2.หากเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะเป็นการขู่นักลงทุนที่ผลิตสินค้าและย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ จะย้ายกลับมาที่สหรัฐเพื่อเสริมสร้างการลงทุนในภาคการผลิต 3.ทรัมป์มองว่าการขาดดุลการค้า เป็นการถูกเอาเปรียบ จึงต้องทำให้เกิดสมดุลการค้ามากขึ้น 4.ใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามการค้ากับจีน 5.ใช้เป็นเครื่องมือการต่อรองและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งการเจรจาจะแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ

“เชื่อว่าอัตราภาษีคงไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในระดับเดิม แต่คงไม่ได้อยู่ในระดับที่เราพูดถึงอยู่ปัจจุบัน สุดท้ายเจรจาแล้วค่าเฉลี่ยอัตราภาษีอาจจะลงมาอยู่ที่ 5-10% อย่างที่ทรัมป์พยายามจะเก็บกับทุกประเทศ ยกเว้นว่ามีการตอบโต้กันเกิดขึ้น หรือทรัมป์ไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ”

โดยทรัมป์พูดชัดเจนว่า หากให้ลดอัตราภาษีลงให้แต่ละประเทศทำ 5 อย่าง 1.นำสินค้ามาผลิตในสหรัฐ 2.แต่ละประเทศต้องไปลดภาษีนำเข้าที่แพงลง 3.ลดมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีนำเข้าลง 4.อย่าแทรกแซงค่าเงิน 5.ซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็บภาษีนำเข้าแบบนี้อยู่ตลอดทั้งปี ประเมินว่าผลกระทบทางตรงผ่านการส่งออกในเอเชียทั้งหมด ประมาณอยู่ที่ 0.6% ขณะที่ประเทศไทยผลกระทบจะสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ประมาณ 1.1% ต่อจีดีพี เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยต่อจีดีพีมีค่อนข้างสูง

ชี้ทางเลือกของไทย

ดังนั้นทางเลือกของประเทศไทยประเมินว่ามีอยู่ 3 ทางเลือก 1.สู้ (retaliate แบบแคนาดา ยุโรป หรือจีน) อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเราแน่นอน หากเรา retaliate เราอาจจะเหนื่อยกว่าเดิม 2.ทน (tolerate) อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเช่นกัน ถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน ซึ่งจะทนได้หรือไม่หากผลกระทบจะทำให้จีดีพีไทยลดลงกว่า 1.1%

ADVERTISMENT
  1. หมอบ (negotiate) คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูง ๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ ลดภาษีศุลกากร เช่น เนื้อสัตว์ อาหาร เกษตรกรรม และอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน

“หากมีการไปเจรจาผลกระทบต่อจีดีพีอาจจะน้อยลง แน่นอนว่าการโดนภาษีจะกระทบต่อผู้ส่งออก แต่พอเราไปเจรจาแปลว่าเราเอาภาคอื่นไปเสนอให้สหรัฐ เพื่อให้เขาลดผลกระทบต่อผู้ส่งออก ดังนั้นการเจรจาจะมี 2 ระดับ ได้แก่ เจรจาภายนอกกับสหรัฐ และเจรจาภายใน ผลกระทบตอนนี้คือผู้ส่งออก ถ้าเราเอาภาคอื่นไปแลก เขาจะยอมแลกกับเราด้วยหรือไม่”

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงผลกระทบอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐ ไทยอาจจะต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก 2 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.50% และปีหน้าอีก 1 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.25% และมีโอกาสดอกเบี้ยนโยบายลงไปต่ำกว่า 1.25% หากอัตราภาษีที่สูงยังอยู่อีกนาน

“ทั้งนี้เชื่อว่าผลกระทบไทยโดนเยอะ และมีโอกาสที่ไทยเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากยังโดนภาษีที่สูง หรือยังเจรจาไม่ได้ และการส่งออกหากยังรุนแรง เศรษฐกิจไทยที่ตั้งไว้ที่ 2.3% ลดลงไปเหลือเพียง 1% กว่า ๆ ในบางไตรมาสไทยอาจจะเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้”