แผ่นดินไหวเขย่าประกัน ? มองผ่านแว่น 2 นายกสมาคม

Earthquake shakes insurance
นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์, สมพร สืบภวิลกุล

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุด สร้างความตระหนกให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ไม่เคยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ยิ่งผู้อาศัยบนตึกสูงหรือคอนโดมิเนียม ที่พากันหวาดผวา เริ่มไม่มั่นใจ และมองว่า เหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกับระบบประกันภัยอย่างแน่นอน

โดยทิศทางและแนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ 2 นายกสมาคมประกันมานำเสนอ

ประกันวินาศภัยรับมือเคลม

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ขณะนี้ได้ให้คณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สินร่วมกับคณะทำงานสินไหม กำหนดแนวทางช่วยเหลือดูแลประชาชน เกี่ยวกับการรับแจ้งเคลมและวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินไหมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนที่จะแจ้งเหตุเข้ามา ขณะเดียวกันสมาคมได้ตั้งศูนย์รับเรื่องและรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากบริษัทสมาชิก และเก็บรวบรวมปริมาณเคลมสินไหมทั้งระบบ จากภัยแผ่นดินไหว

สมพร สืบภวิลกุล
สมพร สืบภวิลกุล

“นี่คือวิธีการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าในการดำเนินการขณะนี้ สิ่งแรกที่เราเร่งทำ คือ ดูแลผู้เอาประกันก่อน แต่ขณะเดียวกันสมาคมได้ประสานงานไปยังสมาคมประกันวินาศภัยญี่ปุ่น เพราะเรารู้ว่าเขามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายครั้ง ก็อยากจะได้ Lesson Learned (บทเรียน) ว่าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยญี่ปุ่นมีการบริหารจัดการ และมีการดูแลประชาชนในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยในอนาคต”

ขึ้นเบี้ย-ลดความคุ้มครอง

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัย “ดร.สมพร” มองว่า จะเหมือนกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ซึ่งก่อนหน้านั้น ภัยน้ำท่วมแทบจะเป็นการแถมให้ลูกค้า เพื่อจูงใจให้คนทำประกันทรัพย์สินและอัคคีภัย แต่หลังจากนั้น กลายเป็นว่าธุรกิจประกันต้องคิดเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น 1% ในกรณีลูกค้ามีความต้องการคุ้มครองภัยน้ำท่วม และจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ทำประกันภัย เพราะกลายเป็นอีกภัยที่มีความเสี่ยงสูง

“คงเป็นแนวทางเดียวกันที่ธุรกิจประกันต้องคิดเบี้ยเพิ่มและกำหนด Sub Limit เกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหว เพราะคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าโอกาสหรือความเสี่ยงการเกิดภัยแผ่นดินไหว เป็นเรื่องไม่ไกลตัวสำหรับประเทศไทยแล้ว”

ADVERTISMENT

ประกันทรัพย์สิน-อัคคีภัย

โดยจากเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนเจ้าของทรัพย์สินและภาคธุรกิจต่าง ๆ ตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวว่าเป็นภัยใกล้ตัวมากขึ้น จึงน่าจะมีความต้องการในเรื่องการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้กับธุรกิจประกันที่พอร์ตเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินและอัคคีภัยจะขยายตัว ทั้งนี้ เชื่อว่าจากนี้ไปเจ้าของบ้านหรือเจ้าของทรัพย์สิน แม้กระทั่งอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะเริ่มตระหนักเห็นถึงความเสี่ยงจากภัยนี้มากขึ้น

“แม้ว่าหลายสำนักวิจัย จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหวในระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของเบี้ยประกันภัย จึงยังคงประมาณการเบี้ยรับรวมปี 2568 อยู่ที่ 2.91-2.94 แสนล้านบาท เติบโต 1.5-2.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าว

ADVERTISMENT

ประกันชีวิตเร่งตรวจสอบรายชื่อ

ขณะที่ นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติที่เคยคิดว่าไกลตัวอาจจะไม่ได้ไกลตัวเหมือนที่คิดในอดีตแล้ว ไม่ต่างจากช่วงการระบาดของไวรัสโควิด อย่างไรก็ดี ภัยแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ธุรกิจประกันชีวิตอาจจะได้รับผลกระทบไม่เท่าธุรกิจประกันวินาศภัย แต่เชื่อมั่นอย่างมากว่าการตระหนักถึงประโยชน์ของการทำประกันจะมีมากขึ้น

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์
นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

“แน่นอนผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต คาดว่าคงต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการกำหนดราคาเบี้ยประกันที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ คงต้องรอประเมินสถิติผลการเคลมประกันเข้ามาก่อน ซึ่งกำลังรอดูรายชื่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เพื่อตรวจสอบการทำประกัน และขณะนี้ยังหาไม่เจอว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องมีการทำประกันสุขภาพกลุ่มไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า มีการทำประกันรายเดี่ยว 1-2 ราย ซึ่งคงต้องรอทยอยตรวจสอบ”

กระทบกำลังซื้อประชาชน

นางนุสรากล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงไปแน่นอน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตตามมา อย่างไรก็ดี ยังเร็วเกินไปที่จะปรับประมาณการการเติบโต โดยยังคงมุมมองปีนี้ว่าเบี้ยรับรวมทั้งระบบจะอยู่ที่ 6.67-6.73 แสนล้านบาท เติบโต 2-3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ย้ำธุรกิจประกันมั่นคง

“แน่นอนว่า คนยังคงมีความกลัว หรือแพนิก แต่การสร้างความเข้าใจจะทำให้คนลดความกลัวเกินกว่าเหตุลงไปได้ และอยากฝากถึงภาพเศรษฐกิจไทยว่าคงขึ้นอยู่กับภาพพจน์ที่ต่างประเทศมองเรา ดังนั้น เราต้องช่วยกันสื่อสารออกไปว่าที่ตึกถล่มเป็นแค่ตึกเดียวในจำนวนไม่รู้กี่พันหรือกี่หมื่นตึกที่เหลือในประเทศไทย ที่ยังคงอยู่ได้อย่างปลอดภัย และอาฟเตอร์ช็อกไม่มีผลความรุนแรง เพราะฉะนั้นอยากเน้นย้ำว่าไทยไม่ได้ถูกกระทบแบบเดียวกับเมียนมา เราต้องช่วยกันสร้างภาพที่แท้จริงของประเทศให้ทุกคนได้รับรู้ ไม่ใช่การสร้างภาพหลอก”

สุดท้าย นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าวย้ำว่า ภาคธุรกิจประกันภัยในไทยยังมีความมั่นคงและแข็งแกร่งอย่างมาก มีระดับเงินกองทุน (CAR) กว่า 300% ซึ่งสูงกว่ากฎหมายกำหนดมาก มีการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โดยซ้อนหลาย ๆ เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งทดสอบผ่านมาได้ด้วยดีมาโดยตลอด