วิจัยกสิกรไทย ชี้ สหรัฐขึ้นภาษี ส่งออกไทยสูญ 4 แสนล้าน “MPI” เสี่ยงหดตัวรุนแรง          

KResearch Thailand GDP ศูฯย์วิจัยกสิกรไทย จีดีพี ประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสหรัฐขึ้นภาษี 37% ทำภาคส่งออกสูญเสีย 4 แสนล้านบาท จีดีพีหาย 1% จาก 2.4% เหลือ 1.4% กดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เสี่ยงหดตัวรุงแรง -3.4% จาก -1% ชี้ นโยบายการคลัง-การเงิน มีพื้นที่จำกัด แนะต้องใช้นโยบายให้ถูกจุด-เกาให้ถูกที่คัน แนะรัฐบาลเร่งเจรจา พร้อมร่วมมือเอกชนส่งออก-นำเข้า ย้ำ หากไม่ทำกระทบจีดีพีมีโอกาสไหลเพิ่มสูงกว่า 1% ด้านเงินบาทผันผวนระยะสั้นในกรอบ 33.00-34.50 บาท หนี้เสียจ่อขยับแตะขอบบน 2.85%  

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ในอัตรา 37% สูงกว่าประเมินไว้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบภาคส่งออกทางตรงและทางอ้อมรวม -3.8% จากเดิมมอง 2.5% เหลือ -0.5% โดยผลกระทบทางตรงผลกระทบจะอยู่ที่ 2.6% ของการส่งออกทั้งหมด เนื่องจากส่งออกไปสหรัฐลดลง ส่วนผลกระทางอ้อมราว 1.2% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้ส่งออกไปยังประเทศซัพพลายเชนและการแข่งขันกับตลาดอื่นมากขึ้น

ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีไทยจะอยู่ที่ราว 1% จาก 2.4% เหลือ 1.4% โดยเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปียังขยายตัวได้ราว 3% แต่ครึ่งหลังของปีจะไม่ขยายตัวเลย ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ชะลอตัว และกระทบบรรยากาศจับจ่ายของครัวเรือนภายหลังจากกระทบแผ่นดินไหว ซึ่งประเด็นภาษีอาจจะกระทบรายได้ครัวเรือนหากกรณีมีการปิดโรงงาน

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือ โดยผลกระทบจะขึ้นอยู่กับการเจรจากับสหรัฐ และดีลที่จะได้รับ เพราะไทยไม่สามารถรู้ได้ว่าสหรัฐมีความต้องการอะไร โดยรัฐบาลอาจจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะจะมีคนที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ จึงต้องมีการเจรจาให้ชัดเจน

“เศรษฐกิจมีแนวโน้มทั้ง Down side และ Up side หากไม่เจรจาอาจจะเห็นตัวเลขผลกระทบไหลมากกว่า 1% ได้ แต่หากเจรจาดีก็อาจมี Up side จึงขึ้นกับไทม์ไลน์และดีลที่เราได้มาด้วย ส่วนโอกาสที่สหรัฐจะปรับขึ้น 72% คงน้อย เพราะเราไม่มีทีท่าตอบโต้สหรัฐ และก็คงไม่เห็นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession อาจจะเห็นไตรมาสต่อไตรมาสทรงตัว แต่ไม่ติดลบสองไตรมาสติด”

นางสาวณัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการเงินและการคลังมองว่า อาจจะต้องผ่อนคลายมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่ไทยมีพื้นที่นโยบายจำกัดมาก จึงต้องเลือกใช้เครื่องมือเฉพาะจุดเข้าไปดูแล และใช้นโยบายการคลังและการเงินเป็นมาตรการเสริม เนื่องจากเงินงบประมาณค่อนข้างน้อย โดยหนี้สาธารณะใกล้แตะเพดาน 70% ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นโจทย์ในระยะข้างหน้า โดยตัวเลขจีดีพี 1.4% ศูนย์วิจัยยังไม่ได้รวมปัจจัย (Take to Account) รัฐบาลกู้เพิ่ม

ADVERTISMENT

ขณะที่นโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เร็วขึ้นในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ และอีกครั้งครึ่งหลังของปีนี้ จากเดิมที่มองว่า กนง.จะมีการปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

“เครื่องมือการดูแลผลกระทบในแง่นโยบายการคลังและการเงินยังมีอยู่ แต่มีจำกัด เพราะหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 70% แต่ทรัพยากรค่อนข้างจำกัด เราจะใช้อย่างไร และหาเงินเพิ่มได้อย่างไร เพราะต้องมีเรื่องของวินัยการคลัง ซึ่งเรามองว่าเรื่องภาษี เป็นปัญหาการค้าระหว่างประเทศและภาคอุตสาหกรรม จึงต้องหาเครื่องมือเฉพาะจุดมาดู และเกาให้ถูกที่คัน แต่กรณีหากมีผลกระทบรุนแรง เช่น ปิดโรงงาน อาจจะใช้มาตรการคลังในการเยียวยาแรงงาน เป็นต้น”

ADVERTISMENT

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า นโยบายการเงินเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนประสิทธิผลอย่างไรนั้น หากรอบการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้มีการปรับลดดอกเบี้ยลง จะเห็นธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ซึ่งไม่ได้แตกต่างมาก แต่รอบนี้จะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภท แต่โดยรวมแล้วผู้กู้ยังคงได้ประโยชน์

อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ย 1-2 รอบจะมีผลกระทบต่อ NIM ซึ่งธนาคารไม่ได้ใส่ปัจจัยผลกระทบแผ่นดินไหวรวมไป แต่ในแง่ผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์ จะเป็นสินเชื่อบ้านที่ผูกอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และผู้กู้ใหม่ ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลจะไม่ได้รับประโยชน์การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ โดยคนที่ได้ประโยชน์มากกว่าจะเป็นภาคธุรกิจ

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากการประกาศภาษีสินค้านำเข้าไทย 37% คาดว่าจะฉุดมูลค่าการส่งออกราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามการเจรจา ตัวเลขผลกระทบอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยผลกระทบทางตรง จะเห็นว่าสินค้าไทยโดนเก็บภาษีสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น และผลทางอ้อม ไทยส่งออกไปยังประเทศที่ 3 อาจโดนการแข่งขันจากจีน และคำสั่งที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า

ดังนั้น คาดการณ์ว่ามูลค่าสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เกษตร อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสเสี่ยงหดตัว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์เสี่ยงหดตัวค่อนข้างแรง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เสี่ยงติดลบสูงขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรก -2.5% ซึ่งจากเดิมประเมิน MPI ในปี 2568 จะหดตัว-1% ถือเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดว่าจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -3.4%

ขณะที่นักท่องเที่ยวจะเห็นว่าในไตรมาสที่ 1/2568 นักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และเกาหลี หดตัวติดลบหลังจากมีแผ่นดินไหว ซึ่งทำให้คาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่อาจจะค่อนข้างยาก ทำให้ศูนย์วิจัยปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือ 35.9 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 37.5 ล้านคน โดยมีอัตราการเติบโตราว 2% สะท้อนว่าภาคท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก แต่แรงขับเคลื่อนเริ่มแผ่วลง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นทิศทางไม่ได้อ่อนค่าชัดเจน แต่ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่ประเมินไว้ 33.0034.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเจตนาของทรัมป์ไม่อยากให้ค่าเงินมาเป็นแต้มต่อเรื่องของการค้า จึงอยากให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งต่อมายังราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ทำให้ค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวน และไม่ได้อ่อนค่าตามปัจจัยพื้นฐาน

“มองไปข้างหน้าในช่วงที่ฝุ่นตลบ เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ และไม่โตในช่วงครึ่งหลังของปี โดย กนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ย และดุลการค้าที่บางลงเรื่อย ๆ และอาจติดลบในบางเดือน ทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยจะเห็นเงินบาทปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ปัจจัยในเรื่องของการรับมือเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐ”

สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเห็นว่าเอสเอ็มอียังคงมีประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งได้รับผลกระทบหลายส่วน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบขยับแตะกรอบบนที่ระดับ 2.85% สูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 2.7% ขณะที่เอ็นพีแอลเอสเอ็มอี จะเห็นว่าธนาคารพยายามปรับโครงสร้างหนี้ตามเกณฑ์การปบ่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) แต่หนี้เสียเอสเอ็มอีค่อนข้างสูงขยับเป็น 7.2-7.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 7.17% ของสินรวมเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าจะอยู่ที่ -1% จากปีก่อน -3% โดยรวมทุกประเภทสินเชื่อจะขยายตัวอยู่ที่ 0.6%