ดอลลาร์อ่วม หลังทรัมป์ขึ้นภาษีโหด

Donald Trump (AP Photo/Evan Vucci)

ดอลลาร์อ่วม หลังทรัมป์ขึ้นภาษีโหด ขณะที่นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (31/3) ที่ระดับ 33.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/3) ที่ระดับ 33.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยถูกกดดันจากการที่นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ จากทิศทางนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โดยยืนยันว่า มาตรการภาษีตอบโต้ที่จะมีการประกาศในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จะครอบคลุม “ทุกประเทศ” ซึ่งเป็นการสยบกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ที่ว่าจะมีการจำกัดขอบเขตของมาตรการภาษีดังกล่าว โดยมีผลกับแค่บางประเทศในช่วงแรก

ทั้งดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 101.26 ในวันพฤหัส (3/4) และค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ที่ 34.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (universal tariff) กับประเทศทั้งหมดในอัตรา 10% และเรียกเก็บมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้(Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่สูงขึ้นราว 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ

ทรัมป์ขึ้นภาษีโหด

ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายประเทศ พบว่าจีนถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มอีก 34% เพิ่มเติมจากเดิมที่บังคับใช้ไปในช่วงก่อนหน้านี้ 20% ทำให้ขณะนี้โดนภาษีอย่างน้อย 54% ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ คือ กัมพูชา 49%, ลาว 48%, เวียดนาม 46%, เมียนมา 44% ส่วนไทย 36%

ซึ่งตัวเลขภาษีที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าไต้หวันที่ถูกเก็บ 32%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24%, มาเลเซีย 24%, สิงคโปร์ 10%

ADVERTISMENT

ส่วนฝั่งยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ถูกเก็บภาษี 31%, สหภาพยุโรป 20% และสหราชอาณาจักร 10% โดยการบังคับใช้มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ 49.0 ในเดือน มี.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.3 ในเดือน ก.พ. ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน

ADVERTISMENT

นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 194,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 7.57 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.61 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 7.76 ล้านตำแหน่งในเดือน ม.ค. โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์

ขณะที่การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 120,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 84,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. และในวันพฤหัส (3/4) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.4 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2568 มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 51.0 ในเดือน ก.พ.

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย มีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย.

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.85-34.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/4) ที่ระดับ 34.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หวั่นกระทบเศรษฐกิจโลก

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (31/3) ระดับ 1.0832/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/3) ที่ระดับ 1.0773/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในวันจันทร์ (31/1) ว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่เดือน ม.ค.มีการปรับตัวเลขเป็นขยายตัว 0.7% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะไม่มีการเติบโตในเดือน ก.พ. และเมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้น 4.9% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปรับปรุงในเดือน ม.ค. ที่เติบโต 3.3%

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยในวันจันทร์ (31/3) ว่า โอกาสที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรในวันที่ 2 เม.ย. หมายความว่า ยุโรปจะต้องควบคุมอนาคตของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินยูโรแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 1.1144 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ประกาศเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 20% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม คุณเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจขึ้นภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมย้ำว่าสหภาพยุโรปต้องการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า ไม่ใช่สร้างกำแพงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าสหภาพยุโรปเองก็มีความกังวลเช่นเดียวกับสหรัฐ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในเวทีโลก แต่ก็เตือนสหรัฐว่าการใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือแรกและเครื่องมือสุดท้ายจะไม่ช่วยแก้ปัญหา

ซึ่งหากการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ประสบความสำเร็จ ทางสหภาพยุโรปอาจออกมาตรการภาษีตอบโต้ระลอกใหม่ซึ่งอาจรวมถึงการนำภาษีเดิมที่เคยถูกระงับไว้กลับมาบังคับใช้ ควบคู่ไปกับการเก็บภาษีเพิ่มเติมในสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0776-1.1144 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/4) ที่ระดับ 1.0979/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

BOJ กังวลมาตรการภาษีสหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (31/3) ที่ระดับ 149.15/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/3) ที่ระดับ 150.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ว่าในการประชุมเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. ที่ผ่านมา กรรมการ BOJ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ BOJ โดยจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

อีกทั้งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การเติบโตของยอดค้าปลีกญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.0% และส่งสัญญาณถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงภายนอก ถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตที่ 4.4% ในเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายเดือนยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าคาดการณ์เพียงเล็กน้อย ค่าเงินเยนแข็งค่าสู่ระดับ 145.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน โดยได้รับแรงหนุนหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศใช้มาตรการภาษีซึ่งสร้างความกังวลให้ตลาดโลก แต่ญี่ปุ่นถูกเรียกเก็บเพียง 24% ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

โดยคุณโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะเดินหน้าขอยกเว้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐต่อไป ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.18-150.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/4) ที่ 146.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ