ดีเอสไอร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุม “ฐิติพร” โบรกเกอร์สาว ผู้ต้องหาคดีหมอบุญ รายที่ 14 ได้แล้ว ถูกรวบตัวที่เมืองจีน หลังทางการจีนได้เนรเทศผู้ต้องหารายนี้ตามที่แจ้ง INTERPOL ออกประกาศ Red Notice เหลือผู้ต้องหาอีก 2 รายคือ “หมอบุญ-กชพร”
วันนี้ (7 เมษายน 2568) เวลาประมาณ 22.00 น. ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับพลตำรวจโทสำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พลตำรวจตรี นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรีพิทักษ์ อุทัยธรรม รองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพันตำรวจเอกเดโช โสสุวรรณากุล รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 แถลงข่าวการจับกุมตัวผู้ต้องหา

โดยในวันนี้ นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสะกดรอยและการข่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 136/2567 ได้ร่วมกันจับกุมตัวนางสาวฐิติพร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของนายแพทย์บุญ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ต้องหาว่าร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ได้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากหลบหนีการจับกุมในคดีไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับโอนสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีผู้กล่าวหาและผู้เสียหาย จำนวนกว่า 605 ราย ปรากฏมูลค่าความเสียหาย 16,100,602,806 บาท โดยกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมอายัดทรัพย์และส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และได้ดำเนินคดีกับนายแพทย์บุญกับพวกรวม 16 ราย

จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว จำนวน 13 ราย มีผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบุญ (สงวนนามสกุล) นางสาวกชพร (สงวนนามสกุล) และนางสาวฐิติพร (สงวนนามสกุล) หลบหนีไปยังต่างประเทศ จึงได้แจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice)
ต่อมาร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอกทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับการประสานงานจากพลตำรวจโทสำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า
จากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องหาตามหมายจับที่หลบหนีออกนอกราชอาณาจักรในคดีพิเศษนี้ รวม 3 รายดังกล่าว โดยแจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice) ได้รับแจ้งจากทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ได้ควบคุมตัวนางสาวฐิติพรได้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
จึงรายงานให้พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทราบ และได้สั่งการให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร่วมกับกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประสานงานร่วมบูรณาการกับกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประสานกับทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอความร่วมมือให้พิจารณาผลักดันผู้ต้องหารายนี้กลับมายังประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ซึ่งในวันนี้ (7 เมษายน 2568) ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เนรเทศผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเครื่องบิน มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 136/2567 ร่วมกันรับตัวผู้ต้องหาเพื่อส่งมอบให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามกฎหมาย
อนึ่ง นางสาวฐิติพรเป็นผู้ต้องหารายที่ 14 ที่ถูกจับกุมตัวในคดีพิเศษที่ 136/2567 มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนโดยการนำเงินมาให้นายแพทย์บุญกู้ยืม ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทน และไม่คืนเงินต้น จึงเกิดความเสียหายในวงกว้าง กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป