กรุงศรี คาดเงินบาทอ่อนค่า 34.40-35.10 บาท/ดอลลาร์ ภาษี ‘ทรัมป์’ ป่วน

ค่าเงินบาท

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ สงครามการค้า-ภาษี “ทรัมป์” ป่วนตลาด

รายงานจากกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงศรีมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-35.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.20 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.85-34.44 บาท/ดอลลาร์

โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่ตลาดหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ท่ามกลางความวิตกว่านโยบายภาษีศุลกากรที่แข็งกร้าวเกินคาดของประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการค้าโลก โดยเฉพาะหลังจากจีนประกาศตอบโต้

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดิ่งลงและสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยในปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นและตัวเลขจ้างงานยังดีเกินคาดก็ตาม การย้ายกระแสเงินทุนสู่แหล่งพักเงินที่ปลอดภัยหนุนเงินเยนสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 6,971 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 14,989 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ความปั่นป่วนและแรงเทขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นทั่วโลก จะยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินของประเทศกําลังพัฒนาในเอเชียรวมถึงเงินบาท และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้น โดยแผนเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สำหรับคู่ค้า 60 รายของสหรัฐ ซึ่งกําหนดอัตราภาษีครอบจักรวาล 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน และอัตราภาษีที่สูงแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ (ไทย 37%) มีผลวันที่ 9 เมษายน สั่นคลอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯเตือนว่า Reciprocal Tariffs อาจเพิ่มขึ้นอีกหากประเทศต่าง ๆ ตอบโต้ เพิ่มความเสี่ยงที่สงครามการค้าโลกจะขยายวง ในทางกลับกัน ทรัมป์ระบุว่าเปิดกว้างสําหรับการเจรจาต่อรองกับทุกประเทศ และยินดีที่จะลดภาษีหากคู่ค้าลดภาษีนําเข้าสินค้าสหรัฐและกำจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของทรัมป์ทำลายความหวังเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการภาษีในระยะสั้น ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าติดตามสัปดาห์นี้ ได้แก่ เงินเฟ้อเดือนมีนาคมของสหรัฐ รวมถึงรายงานประชุมเฟด

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 0.84% และหลุดกรอบเป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่ากลุ่มสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรที่ไทยเตรียมนำเข้าจากสหรัฐอาจทำให้ราคาในประเทศลดลง เรามองว่ามีโอกาสสูงขึ้นมากที่ทางการจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง ขณะที่ไทยเผชิญช็อกทางเศรษฐกิจจาก Reciprocal Tariffs ที่รุนแรงเกินคาด