ตลท.สกัดพายุถล่ม SET ภาษี ‘ทรัมป์’ ทุบหุ้น-โบรกฯหั่นเป้าดัชนี

Trump stocks fall

ตลาดหุ้นโลกปั่นป่วนหนัก โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นและไต้หวันที่ร่วงรุนแรง เมื่อวันจันทร์ที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทั้งสองตลาดดังกล่าวต้องประกาศใช้ยาแรง “Circuit Breaker” ส่วนตลาดหุ้นไทยโชคดีอยู่บ้างที่ปิดทำการในวันดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นคงตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และทำให้มีเวลาตั้งตัว เตรียมพร้อมรับมือ

โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรียกประชุมทันทีในวันดังกล่าว และมีมติอนุมัติปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว รวมถึงคณะกรรมการ บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) (TFEX) ก็ได้ประชุม และออกมาตรการมารับมือด้วยเช่นกัน

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ SET และ mai มี 3 มาตรการ ประกอบด้วย (1) ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ Ceiling & Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น หุ้นสามัญ จากกรณีหากราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง 30% จะไม่สามารถขายหุ้นได้ในวันดังกล่าว ปรับลดเหลือเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง 15%

(2) ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิมกรณีราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง 10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็นราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง 5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น และ (3) ห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยกเว้น Market Maker

ส่วนตลาด TFEX มีมาตรการเดียว คือ ปรับ Ceiling & Floor ลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น หุ้นสามัญ จาก +/- 30% เหลือ +/- 15% สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับหุ้น เช่น Index Futures/Options, Sector Futures, Single Stock Futures ให้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 8-11 เม.ย. 2568 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะติดตามภาวะตลาดต่อเนื่องทุกวัน พร้อมปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเชื่อว่ามาตรการชั่วคราวที่ประกาศใช้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยเสริมเสถียรภาพของตลาดและสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน

ADVERTISMENT

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การออกมาตรการดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการใช้อำนาจตามข้อบังคับของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ได้เห็นชอบไว้ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อตลาด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TFEX สามารถดำเนินการออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ได้

“ก.ล.ต.จะได้ติดตามและประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TFEX เพื่อประเมินสถานการณ์และผลของมาตรการชั่วคราวและสถานการณ์ในภาพรวมต่อไป”

ADVERTISMENT

หุ้นดิ่งทันที มาตรการเอาไม่อยู่

การออกมาตรการล่วงหน้าของตลาดหลักทรัพย์ฯดังกล่าว ถือว่าได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากบรรดาผู้เล่นในตลาดทุนไทยค่อนข้างดี

อย่างไรก็ดี แม้จะเตรียมมาตรการไว้รับมือแล้ว ทว่าทันทีที่ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการ ในวันที่ 8 เม.ย. ดัชนี SET ก็ดิ่งลงทันทีกว่า 50 จุด และทำจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งวันเช้าที่ 1,056.41 จุด หรือลดลง 68.80 จุด

SET เสี่ยงทดสอบ 1,000 จุด

โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ออกรายงานกลยุทธ์การลงทุนประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2568 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (Policy Panic) หรือออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาด

ทั้งนี้ บล.เกียรตินาคินภัทรคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงกลางปี อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (Yield Curve Steepening) และหนุนดัชนี SET ได้

เป้าดัชนีขึ้นกับผลเจรจาสหรัฐ

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลจากสหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยรุนแรงกว่าคาด จึงได้ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2568 ลงเหลือ 1.5-2.1% จากเดิมคาดโต 3.1% และปรับกำไรต่อหุ้น (EPS) เหลือ 82-88 บาท/หุ้น จากเดิม 92 บาท/หุ้น

โดยการปรับลด EPS อยู่ภายใต้สมมุติฐาน คือ 1.ปรับลด GDP ลงเหลือ 1.5-2.1% 2.ปรับลดคาดการณ์กำไรของกลุ่มส่งออก 3.ปรับลดคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย กนง.เหลือ 1.50% 4.ปรับอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) ลงเหลือ 14-15.7 เท่า และ 5.พิจารณาผลกระทบเป็น 3 กรณี ตามคาดการณ์ GDP ที่สะท้อนการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐ จากระดับ 36% จนถึง 10% แบบ Universal Tariffs ซึ่งคาดว่าอัตราภาษีสินค้านำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทย 36% เป็นระดับสูงสุดแล้ว

“หากเจรจาต่อรองลงมาได้ ผลกระทบต่อ EPS ของดัชนี SET จะลดลง และได้เป้าหมายดัชนี SET สิ้นปี 2568 ที่บริเวณ 1,150 จุด, 1,275 จุด และ 1,380 จุด ตามลำดับ”

นายณัฐพลกล่าวว่า (1) กรณี “แย่ที่สุด” เจรจาไม่สำเร็จ ถูกสหรัฐเก็บภาษี 36% คาด GDP ปีนี้โต 1.5% และ EPS อยู่ที่ 82 บาท/หุ้น ส่งผลให้เป้าหมายดัชนี SET อยู่ที่ 1,150 จุด

2) กรณี “ฐาน” เจรจาต่อรองได้บ้าง แต่ยังถูกสหรัฐจัดเก็บภาษี 20% คาด GDP ปีนี้โต 1.9% และ EPS อยู่ที่ 85 บาท/หุ้น ส่งผลให้เป้าหมายดัชนี SET อยู่ที่ 1,275 จุด

และ (3) กรณี “ดีที่สุด” เจรจาต่อรองได้เกือบทั้งหมด แต่ยังถูกสหรัฐเก็บภาษี 10% ที่เป็น Universal Tariffs คาด GDP ปีนี้โต 2.2% เเละ EPS อยู่ที่ 88 บาท/หุ้น ส่งผลให้เป้าหมายดัชนี SET อยู่ที่ 1,380 จุด

“ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ทำ Sector Rotation พร้อมติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัดและสามารถใช้พักเงินได้ ได้แก่ REIT & IFF, สื่อสาร, โรงไฟฟ้า, ค้าปลีกสินค้าจำเป็น และการแพทย์ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, สินค้าเกษตร, นิคมอุตสาหกรรม, อาหารเครื่องดื่ม, ขนส่งและโลจิสติกส์ อาจต้องชะลอการลงทุนไปก่อน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น พลังงาน, ธนาคาร, ไฟแนนซ์ และท่องเที่ยว ควรรอจังหวะลงทุนเมื่อราคาปรับฐานลงมาลึกเท่านั้น”

ปธ.ตลท.ชี้มาตรการพยุง SET

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คงต้องประเมินผลการบังคับใช้มาตรการที่ออกมาอีกที โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องเตรียมการให้พร้อมอยู่ตลอด

“การประกาศมาตรการเร่งด่วนถูกต้องแล้ว หากไม่มีมาตรการออกมา คาดว่าภาวะตลาดหุ้นไทยน่าจะแย่กว่านี้” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าว