
แบงก์ชี้สินเชื่อรายใหญ่เริ่มฟื้น อานิสงส์ต้นทุนดอกเบี้ยลด-ตลาดหุ้นกู้ชะลอ ยันเจาะกลุ่มมีศักยภาพ-เข้มแข็ง ระบุการแข่งขันสูง กดดัน “ราคา-ส่วนต่างดอกเบี้ย” ฟาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดทั้งปีสินเชื่อรายใหญ่โตในกรอบ 1-1.5%
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ มีสัญญาณการขอวงเงินสินเชื่อเข้ามาเรื่อย ๆ โดยคาดว่าจะกลับมาค่อนข้างมากในช่วงไตรมาส 2-3 เนื่องจากลูกค้าบางส่วนยังรอดูทิศทางนโยบายการลงทุนจากภาครัฐ โดยอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว เช่น โรงแรม หรือเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และรถยนต์ ในกลุ่มผู้ผลิตอะไหล่ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัญญาณธุรกิจรายใหญ่มีการฟื้นตัว แต่จะเห็นการเติบโตในปีนี้ทรงตัว ส่วนหนึ่งมาจากมีลูกค้าชำระคืนหนี้เข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยเงินค่างวดผ่อน 5 ปี จะมีการชำระคืนหนี้เข้ามาเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 20% ประกอบกับปี 2567 กสิกรไทยมีอัตราการเติบโตของธุรกิจรายใหญ่ค่อนข้างสูงราว 6% ทำให้ปีนี้การเติบโตสินเชื่อทรงตัว
“เราเห็นสัญญาณลูกค้ารายใหญ่เข้ามาขอสินเชื่อเรื่อย ๆ และหันมาใช้สินเชื่อระบบแบงก์มากขึ้น แทนการออกหุ้นกู้ ซึ่งเราก็มีเกณฑ์การพิจารณาการปล่อยกู้ แต่ทั้งปีสินเชื่อรายใหญ่คงจะไม่โต หรือน่าจะ Flat ซึ่งก็ถือว่าเก่งแล้ว”
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ปีนี้ ไทยพาณิชย์เน้นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง และมีความเสี่ยงต่ำ โดยกลุ่มที่เห็นโอกาสการเติบโตได้ดี เช่น โลจิสติกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยว เป็นต้น หรือการเติบโตต่อยอดจากกลุ่มธุรกิจรายย่อยที่ได้รับอานิสงส์การผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เช่น ในกลุ่มราคาบ้านระดับสูง โดยธนาคารปล่อยสินเชื่อโครงการถือเป็นการเติบโตครบรอบด้าน
อย่างไรก็ดี จากภาวะตลาดหุ้นกู้ที่เกิดขึ้น ธุรกิจหันมาพึ่งพาสินเชื่อธนาคารมากขึ้น โดยในเซ็กเตอร์ที่มีศักยภาพและเข้มแข็งจะแข่งขันกันมากขึ้น จึงมีความกดดันเรื่องราคาและส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) มากขึ้น
“การปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่บริบทแตกต่างกัน การปรับเงื่อนไข และความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยง ต้นทุน และราคา แต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน โดยเราก็ดูให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปล่อยได้ ภายใต้การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะเกิดหนี้เสียหรือไม่นั้น อาจจะไม่สามารถบอกได้ แต่การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจะดูหลักประกัน ปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ และพูดคุยกับลูกค้าทุกราย”
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นสัญญาณการแข่งขันปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ เช่น รัฐวิสาหกิจ โครงการรัฐ หรือบริษัทเอกชนที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเห็นการแข่งขันด้านราคารุนแรง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งมองว่ามาจากสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี เติบโตค่อนข้างลำบากในปีนี้ จึงทำให้หลายแบงก์หันมามุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่มากขึ้น
ทั้งนี้ การเติบโตจะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพ พลังงาน และพลังงานทดแทน ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหากำลังซื้อ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้โครงการเปิดใหม่หรือการลงทุนชะลอลง อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรก สินเชื่อของธนาคารยังเติบโตทรงตัว จากเป้าหมายทั้งปี 5-7%
“เรายังเห็นกลุ่มพลังงานยังมีดีลใหม่ หรือดีล M&A บ้าง แต่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะการหั่นราคาที่มีสัญญาณตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี’67 แล้ว จะเห็นว่าต้นทุนปรับลดลงในรอบหลายปี อย่างไรก็ดี ธนาคารพยายามเข้าไปแข่งขันที่ระดับที่เหมาะสม เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อ Healthy”
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 โดยเห็นสัญญาณการเบิกใช้วงเงิน จากเศรษฐกิจที่เริ่มมีโมเมนตัมดีขึ้น และต้นทุนการเงินลดลง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับดอกเบี้ยลง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลการเบิกใช้วงเงิน
“ถ้าพิจารณาต้นทุนทางการเงินจะพบว่าทยอยปรับลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจหันมาใช้สินเชื่อมากขึ้น โดยเริ่มเห็นต้นทุนลดลงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 หลัง กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อธุรกิจปล่อยใหม่ลงมาอยู่ที่ 4.6% ในเดือน ธ.ค. 2567 จากปกติอยู่ที่ 4.8-4.9% ทั้งนี้ คาดว่าเดือน ก.พ. 2568 ก็น่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน”
ทั้งนี้ จากที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เริ่มมีการเบิกใช้ คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะทยอยตาม โดยตัวเลขสินเชื่อธุรกิจในเดือน ม.ค. 2568 กลับมาขยายตัว 0.2% ในรอบ 3 ปี จากที่หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2565
“ปีก่อนสินเชื่อธุรกิจหดตัว -0.1% สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ แต่จะเห็นว่าสินเชื่อรายใหญ่ยังโตได้ ซึ่งในปีนี้ภาพรวมสินเชื่อรายใหญ่น่าจะโตได้ ทำให้ทั้งปีศูนย์วิจัยคาดการณ์สินเชื่อธุรกิจ (ไม่รวมกิจกรรมทางการเงิน) เติบโตในกรอบ 1-1.5% แต่มองไปข้างหน้ายังอยู่ในโหมดระมัดระวัง และการเบิกใช้ อาจจะขึ้นกับลูกค้า และโปรเจ็กต์ของธุรกิจด้วย”