ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดจับตาสงครามการค้า

ไทย เงินบาท ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (8/4) ที่ระดับ 34.68/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 34.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศว่าจีนมีเวลาเพียงหนึ่งวันในการยกเลิกมาตรการภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ หากไม่ทำการยกเลิกภายในวันที่ 8 เม.ย. จีนจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 50% และยังระบุเพิ่มเติมว่าทางสหรัฐจะยกเลิกการเจรจากับจีนทั้งหมดหากจีนไม่ทำตามข้อเรียกร้อง โดยก่อนหน้านี้ทางจีนได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 34% เพื่อเป็นการตอบโต้ทางมาตรการของนายทรัมป์

โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นไป เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงอย่างหนักเนื่องจากเป็นการเพิ่มความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/4) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ มีการเพิ่มขึ้นอยู่ 228,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. มากกว่าที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.2% ในเดือน มี.ค. จาก 4.1% ในเดือน ก.พ.

ในส่วนของตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางสหรัฐ ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อ นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกหลังจากการประกาศมาตรการภาษีของนายทรัมป์ นายเจอโรม ได้กล่าวว่าภาษีนำเข้าที่ทางสหรัฐเรียกเก็บมากเกินไป อาจส่งผลกับเงินเฟ้อ และส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง นับเป็นความท้าทายในการตัดสินใจ****ดอกเบี้ยในอนาคต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รายงานอย่างต่อเนื่องกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องความคืบหน้าในการหามาตรการต่าง ๆ ไว้เจรจากับทางสหรัฐ เพื่อเตรียมจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่เตรียมไว้เพื่อรับผลกระทบสงครามการค้าครั้งนี้

โดยกล่าวว่าการดำเนินการเร่งเจรจากับทางสหรัฐอย่างประเทศอื่นนั้นอาจจะไม่ส่งผลดี เนื่องจากสามารถประเมินความต้องการที่แท้จริงของทางสหรัฐ ในมาตรการภาษีครั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศแคนาดา และเวียดนามที่มีการเกินดุลกับสหรัฐ ถึงแม้ทั้งสองประเทศนี้มีการเร่งเจรจากับทางสหรัฐ แต่สุดท้ายก็ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแผนกลยุทธ์ที่เตรียมไว้นั้นคือการปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งทั้งสองประเทศ เช่น การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐที่มีความสามารถในการผลิตได้มากกว่าบริโภค ภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร

ADVERTISMENT

โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการแปรรูปของไทยเพื่อส่งออกสินค้าขายไปทั่วโลก โดยแนวทางนี้จะสามารถสร้างพันธมิตรกับทางสหรัฐ ได้โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

นอกจากนี้นายศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกไปสหรัฐ เช่น การพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะสั้น และยังคงเตรียมแผนมอบเงินทุนสำหรับผู้ประอบการไทยที่ต้องการตีตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปยังสหรัฐ โดยคาดว่าแผนการนี้จะมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท โดยจุดประสงค์ของแผนนี้คือช่วยผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 34.52-34.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (08/04) ที่ระดับ 1.0944/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 1.0980/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวานนี้ (7/4) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ย้ำว่าพร้อมดำเนินมาตรการภาษีตอบโต้ที่เหมาะสมหากมีความจำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของยูโรโซน

ทั้งนี้ทางสหรัฐได้เรียเก็บภาษีนำเข้าจาก EU เพิ่มขึ้น 20% สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิก EU และเริ่มที่จะออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0905-1.0991 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0924/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (08/04) ที่ระดับ 147.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/3) ที่ระดับ 146.06/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (7/4) ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ทางญี่ปุ่นมีแผนการจะไปเจรจาเรื่องมาตรการเก็บภาษีนำเข้ากับทางสหรัฐ เร็ว ๆ นี้

ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกอย่างหนักจากมาตรการภาษีครั้งนี้ นายอิชิบะกล่าวเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่ในสหรัฐ โดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นโดยตรงในสหรัฐ มีมูลค่าราว 418 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราการจ้างงานสหรัฐมากถึง 2.3 ล้านตำแหน่ง ขณะนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเร่งมือประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.98-148.12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน มี.ค. จากสหพันธ์ธุริจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ก.พ. (9/4), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (9/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. (10/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) เดือน มี.ค. (11/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/4), อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (11/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือน ก.พ.ของอังกฤษ (11/4), และดุลการค้าเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (11/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.9/-7.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.4/-2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ