
วิจัยกรุงศรีประเมินสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 36% สูงเกินคาด ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยเติบโตใกล้ 0% หากไม่มีความคืบหน้าการเจรจา ย้ำ สงครามการค้ารุนแรง-มีความไม่แน่นอนสูง คาดระยะกลาง-ยาว กดดันส่งออก -2.6% และจีดีพีไทย -0.11%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรีระบุว่า สินค้าส่งออกของไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐสูงเกินคาดที่ 36% อาจส่งผลให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่เติบโต ประเทศไทยนับเป็น 1 ในเกือบ 60 ประเทศที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยสินค้าของไทยจะถูกเก็บในอัตราที่ 36% สูงสุดเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน รองจากกัมพูชา (49%) ลาว (48%) เวียดนาม (46%) และเมียนมาร์ (44%) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ในระยะสั้น มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐ อาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างมาก และเฉลี่ยทั้งปี 2568 อาจเติบโตใกล้ศูนย์หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาลดภาษี สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่
ผลกระทบสูง : อาหารทะเลแปรรูป ยางรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และถุงมือยาง เนื่องจากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำสำหรับสินค้าไทยกลุ่มนี้ และสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หากสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างมากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกและการผลิตสินค้าเหล่านี้
ผลกระทบปานกลาง : ยางพารา ข้าว รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า พลาสติก อุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ และเหล็กและเหล็กกล้า แม้สหรัฐจะยังเป็นตลาดหลักของสินค้าเหล่านี้ แต่ตลาดอื่น ๆ ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ นอกจากนี้ ไทยเองก็ผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อใช้ในประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นโดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป และยางรถยนต์อาจส่งผลต่อเนื่องผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต ซึ่งจะกระทบไปยังการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลลบต่อการจ้างงาน รวมถึงกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ
ความตึงเครียดทางการค้าโลกทวีแรงขึ้นและยังมีความไม่แน่นอนสูง กดดันเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทยสูงเกินคาดที่ 36% ขณะที่ทางการไทยเคยประเมินไว้ว่าอาจถูกเก็บภาษีที่ 11% (ช่วง 10-15%) โดยก่อนหน้านี้ส่วนต่างภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของไทยกับสหรัฐฯอยู่ที่ราว 6% หากบวกกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อัตราภาษีนำเข้าที่เคยคาดการณ์จะอยู่ที่ราว 13%
สำหรับผลกระทบในระยะปานกลางถึงระยะยาวอาจจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะสั้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดกับไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ จีน (54% คำนวณจากอัตราภาษีตอบโต้ 34% บวกกับอัตราภาษีที่สหรัฐฯจัดเก็บ 20% เมื่อต้นปี) และเวียดนาม (46%) ส่งผลให้การย้ายฐานการลงทุนและผลของการทดแทนการส่งออกสินค้าอาจส่งผลบวกในเชิงเปรียบเทียบต่อการส่งออกและการผลิตบางรายการของไทย
การประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP) วิจัยกรุงศรีพบว่าจากการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐนี้ จะทำให้การส่งออกและ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนพบว่า GDP ของเวียดนามและกัมพูชาจะลดลงมากกว่าไทย เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าและมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐมากกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าไทย
ในระยะข้างหน้าความตึงเครียดทางการค้าโลกอาจมีพัฒนาการในหลายทิศทาง ได้แก่ 1.การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐ 2.มาตรการตอบโต้ที่ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ หรือ 3.ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตของหลายประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแบบรูปตัว K (โดยภาคการผลิตหลายสาขายังคงฟื้นตัวได้ช้าหรือการเติบโตที่อ่อนแอกว่าภาคบริการอยู่มาก) ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐอาจยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตสำคัญของไทย และกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลางให้ยิ่งอ่อนแอลง