
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธ 9 เมษายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (9/4) ที่ระดับ 34.91/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/4) ที่ระดับ 34.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของ ปธน.ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (9/4) ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่นำเข้าจาก 86 ประเทศถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 11% ไปจนถึง 84% ขณะที่จีนจะถูกเรียกเก็บภาษีรวม 104%
โดยก่อนหน้านี้ จีนถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ก่อนที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มอีก 34% และล่าสุด ปธน.ทรัมป์ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มอีก 50% ในนาทีสุดท้ายก่อนที่มาตรการภาษีจะมีผลบังคับใช้ ด้านนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ ปธน.ทรัมป์ ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
ขณะนี้รัฐบาลเกือบ 70 ประเทศได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ ซึ่งการเจรจากับประเทศคู่ค้าดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม จนกว่าจะได้รับข้อตกลงที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ และภาษีศุลกากรพื้นฐานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ นับตั้งแต่ 10-49%
โดยขึ้นอยู่กับการตั้งกำแพงภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ส่วนภาษีศุลกากรพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุกประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. นอกจากนี้สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงวานี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลง 3.3 จุด สู่ระดับ 97.4 ในเดือน มี.ค.
โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน และเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 98.9 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการใช้นโยบายกำแพงภาษี ปธน.ทรัมป์ ซึ่งได้สร้างความยากลำบากต่อบริษัทต่าง ๆ ในการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการลงทุนในธุรกิจ
อย่างไรก็ดี การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ ปธน.ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้าในวันที่ 2 เม.ย. โดยระหว่างวันราคาสินทรัพย์ปลอดภัยได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนลงในทิศทางแข็งค่าตามการปรับขึ้นของราคาทองคำ ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของ ปธน.ทรัมป์ผู้นำสหรัฐ จะส่งผลให้เกิดสงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ (9/04) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า จากที่ ปธน.ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.เป็นต้นมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก ส่งผลให้ตลาดการเงินตลาดทุนของโลกปั่นป่วน ดัชนีดาวน์โจนส์ปรับตัวลดลงอย่างมากแค่วันเดียว 1,500 จุด และตลาด Nasdaq เข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) สำหรับทางรอดของไทย สิ่งที่ต้องเตรียมการกับผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs รับมือสินค้าจีนจะทะลักเข้ามา
ขณะที่เทคโนโลยีจะต้องพัฒนาเร็วขึ้นมาก การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นใหม่ในภูมิภาค รวมถึงการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจที่จะรุนแรงขึ้น ทั้งเรื่องการค้าและเรื่องอื่น ๆ ด้วย ขณะที่ปัจจัยภายนอกสิ่งที่กังวล คือ สหรัฐและจีนทะเลาะกันเป็นประเด็นความขัดแย้งที่น่ากังวลใจ และอาจขยายมิติและลุกลามไปจุดอื่นได้ เช่น สงครามทางการทหาร เป็นต้น
และปัจจัยภายในประเทศ จะเห็นว่าไทยยังมีความเปราะบาง ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้โลกที่ปั่นป่วนจะเป็นปัจจัยซ้ำเติม แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แม้ธนาคารกรุงเทพได้ปรับลดดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 68 จากเดิมต้นปีคาดไว้ที่ 3% ปรับลงมาอยู่ในกรอบ 2.5-3% แต่หลังจากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเกินกว่าคาด และมีสถานการณ์แผ่นดินไหวกระทบกับการท่องเที่ยว
จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ราว 2.5% บวกลบ แต่มีทิศทางจะขยายตัวต่ำกว่านั้น ทั้งนี้ระหว่างวันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในกรอบระหว่าง 34.55-34.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (09/04) ที่ระดับ 1.0993/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/4) ที่ระดับ 1.0927/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ธนาคาร UBS ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยูโรโซนสำหรับปี 2025 และ 2026
โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ และผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ล่าช้า ธนาคารคาดการณ์ว่าการเติบโตของยูโรโซนจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2025 ลดลงจาก 0.9% และอยู่ที่ 0.8% ในปี 2026 ลดลงจาก 1.1% ในขณะเดียวกัน UBS ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2027 เป็น 1.5% จาก 1.2% โดยคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวจากการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ UBS คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนเมษายนและมิถุนายน
ทำให้อัตราเงินฝากอยู่ที่ 2% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกลับมาในช่วงปลายปี 2026 โดย ECB อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับไปที่ 2.5% เมื่อแรงกดดันเงินเฟ้อจากการขยายตัวทางการคลังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0949-1.1089 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1024/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้ (09/04) ที่ระดับ 145.25/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/4) ที่ระดับ 146.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมฉุกเฉินในวันนี้ (9 เม.ย.) หลังจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นดิ่งลงอย่างหนักภายหลังจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ของสหรัฐ มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.56-146.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (9/4), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (9/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (10/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค.ของสหรัฐ (10/4), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มี.ค.ของสหรัฐ (11/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน เม.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (11/4), อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ของเยอรมนี (11/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือน ก.พ.ของอังกฤษ (11/4), และดุลการค้าเดือน ก.พ.ของอังกฤษ (11/4)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.7/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.7/-1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ