
จุลพันธ์สั่ง ธ.ก.ส.ศึกษาตั้ง AMC แก้หนี้เสียเกษตรกรสูงอายุเกือบ 1 แสนบัญชี กำหนดรายงานผลภายใน 1 เดือน หนุนปลดหนี้ไม่ให้ส่งต่อไปทายาท
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มอบนโยบายให้ ธ.ก.ส.แก้ไขหนี้เกษตรกรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหนี้เกษตรกรสูงอายุที่มีอยู่เกือบ 1 แสนบัญชี ผ่านการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในรูปแบบบริษัทลูกของ ธ.ก.ส.เอง นำรายละเอียดกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้งภายใน 1 เดือน
“ลูกค้า ธ.ก.ส.จำนวนมากเริ่มอายุเยอะ และเริ่มไม่ทำการเกษตร ขณะที่ทายาทของเกษตรกรก็ไม่อยากรับหนี้สินของพ่อแม่ ดังนั้น เราก็ต้องมาแก้อย่างจริงจัง ซึ่งเราก็คิดว่าเราอาจจะตั้ง AMC ของเราเอง ตอนนี้มอบนโยบายให้ ธ.ก.ส.ไปดูรายละเอียดแล้วมาเสนอภายใน 1 เดือน อาจะเป็นแบบ JV AMC เพราะแบงก์ก็แฮร์คัตยาก ก็ต้องนำวิธีนี้มาใช้” นายจุลพันธ์
ทั้งนี้ มองว่าการจัดตั้ง AMC จะเป็นทางเลือกในการจัดการปัญหาหนี้สิน ซึ่งดีกว่าการส่งมอบหนี้สินไปให้กับทายาท ขณะที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ของ ธ.ก.ส.ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน NPL ของ ธ.ก.ส.ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยปิดปีบัญชี ณ 31 มี.ค. 2568 อยู่ที่ประมาณ 5.8%
“เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้หนี้ของรัฐบาล เป้าหมายคือทำให้คนหลุดจากความเป็นหนี้ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งดีกว่าการส่งมอบหนี้สินให้กับทายาท และลูกหลาน ความยากของเรื่องนี้คือส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือหากมีการค้ำก็เป็นการค้ำประกันกลุ่ม” รมช.คลังกล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อเสนอให้ ธ.ก.ส.ปรับพอร์ตสินเชื่อ โดยให้มีกลุ่มลูกหนี้ที่มีความแข็งแรง หรือกลุ่มรายใหญ่เข้ามาในพอร์ตสินเชื่อมากขึ้น โดยเลือกกลุ่มที่แข็งแรงกว่าเข้ามาสร้างความสมดุลในพอร์ต จากปัจจุบันที่ลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มฐานราก ด้วย ฉะนั้น ในปีบัญชี 2568 (เม.ย. 68-มี.ค. 69) จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น