
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ จับตาปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ-ความขัดแย้งการค้า กดดันอุปสงค์-แนวโน้มเงินเฟ้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. อยู่ที่ 0.84% ปรับตัวลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.08% อีกทั้งยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งมองไว้ที่ 1.0%
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ลดลงมาจากการหดตัวลงของระดับราคาสินค้าในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ โดยติดลบ 0.93% เทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.23% ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่กระทบต่ออุปสงค์ในตลาดโลก และแนวโน้มอุปทานที่ผ่อนคลายลงตามแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC ในเดือน พ.ค. 68 เป็น 4.1 แสนบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ดี ระดับสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เร่งตัวขึ้น 2.35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 2.03% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ และกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบรายเดือน
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน มี.ค. หดตัว -0.2% จากเดือน ก.พ. ตามการลดลงของระดับราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม -0.44% เป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลงตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก
ขณะที่ระดับราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.19% ตามการปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากสภาวะอากาศร้อน สวนทางกับสินค้าประเภทอาหารโทร.สั่ง (Delivery) ไข่ไก่ และผักสดบางชนิด อาทิ ชะอม แตงกวา และพริกสด ที่ปรับลดลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.86% ปรับตัวลงจากเดือนก่อน ซึ่งอยู่ที่ 0.99% หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานหดตัว -0.13%
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง
โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7% YOY
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง (Corr=0.67) สะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อซึ่งอาจแผ่วลงตามการลงทุนที่อ่อนแรง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) โดย ธปท. ล่าสุดในเดือน มี.ค. 68 ระบุว่าความต้องการของตลาดในประเทศอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 50.7 จากเศรษฐกิจระยะข้างหน้าซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น
ด้านราคาพลังงานมีทิศทางลดลง โดยค่าไฟฟ้าในปี 2568 มีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน จากการคาดการณ์ของ Krungthai COMPASS มองว่าจะลดลงเหลือ 4.15 บาท/หน่วย (จาก 4.18 บาท/หน่วยเมื่อปีก่อน) ปัจจัยหลักจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ประกอบกับมาตรการลดภาระรายจ่ายค่าไฟฟ้าของภาครัฐ ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มแผ่วลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
จับตาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันอุปสงค์และแนวโน้มเงินเฟ้อต่อไป สงครามการค้าที่ยกระดับจะเป็นอุปสรรคต่อความต้องการซื้อสินค้าโดยรวมในตลาดโลก ทั้งยังกดดันการส่งออกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของไทย
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลจากการตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนที่รุกเข้ามาในตลาดของไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย