
รมว.คลัง เตรียมศึกษาขยายเพดานหนี้สาธารณะเกิน 70% รองรับผลกระทบจากทรัมป์ เก็บภาษีตอบโต้ไทย 36%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเดินทางเจรจากับสหรัฐอเมริกา หลังกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) 36% ซึ่งเลื่อนออกไป 90 วัน โดยให้มีผลทันที ว่า รัฐบาลมีวิธีการในการทำแผนการเจรจาในครั้งนี้ ซึ่งจะแก้ปัญหาในเรื่องที่เป็นวิกฤต และเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ต้องอยู่บนหลักการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศด้วย
“กรณีสุกรนั้น ก็ต้องมาดูว่าในประเทศมีการเลี้ยงและบริโภคเท่าไร ถ้าเหลือเท่าไรก็จะส่งออก อะไรที่เราไม่ขาดจะไม่มีการนำเข้า จะนำเข้าในกรณีเดียวเท่านั้น คือในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค หรือนำเข้ามาเพื่อแปรรูปเพื่อส่งออก ดังนั้น แนวทางเรื่องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบกับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการในประเทศอย่างแน่นอน” นายพิชัยกล่าว
ดังนั้น เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเร่งหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อที่จะปรับสมดุล เพราะเรื่องนี้เป็นผลกระทบกับทุกประเทศ แม้การเจรจาจะเป็นแค่กรอบ แต่จะเป็นกรอบที่เห็นร่วมกันว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติร่วมกันได้อย่างแน่นอน
“ไทยและหลายประเทศยังคงถูกเก็บภาษีพื้นฐานสำหรับส่งออกไปยังสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% แต่หลายประเทศก็มีต้นทุนดังกล่าวในอัตราเดียวกัน หากประเทศคู่แข่งทางตรงของไทยได้รับการปรับลดภาษี และไทยถูกเก็บภาษีสูงกว่า จึงเป็นเรื่องน่ากังวล และผู้บริโภคชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น” นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก หากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจพิจารณาขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะจากปัจจุบันอยู่ที่ 70% ต่อ GDP แต่หากกระทรวงการคลังจะตัดสินใจขยายเพดานหนี้สาธารณะก็ต้องมีเหตุผล นำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องทบทวนมาตรการกระตุ้นการบริโภค ตามแผนเดิม เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป