EIC ภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจไทยโตชะลอเหลือ 1.5% หนุน กนง.ลดดอกเบี้ย

SCB EIC

อีไอซี เผย แม้สหรัฐ เลื่อนเก็บภาษีออกไป 90 วัน แต่ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูง คาดเศรษฐกิจไทยชะลอลงเหลือ 1.5% จากเดิม 2.4% มอง กนง.ลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง คาดสิ้นปี’68 เหลือ 1.25% จากปัจจุบัน 2.00% ต่อปี เพื่อดูแลเศรษฐกิจขากความไม่แน่นอนสูง แนะไทยเร่งเจรจา 3 เรื่องสำคัญ  

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB EIC ระบุว่า ในวันที่ 9 เมษายน 2568 ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ มีโอกาสเจรจาปรับลดภาษี แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำทุกประเทศที่ 10% ไว้ ขณะที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีกหลายรอบ รวมเป็น 145% หลังจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ ก่อนหน้านี้ นำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบของสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก

แม้สหรัฐ จะเปิดช่องให้เจรจาภาษีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า แต่ SCB EIC มองว่า มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหญ่ที่สหรัฐ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูง

อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐ ตั้งให้สินค้าจากไทยที่ 36% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง สะท้อนสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐ ที่สูง โดยอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงเป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐ และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (17%) และค่าเฉลี่ยเอเชีย (23%) จึงต้องจับตามองการเจรจาที่จะเกิดขึ้นว่าจะสามารถลดอัตราภาษีนำเข้านี้ได้มากน้อยอย่างไร

ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%)
จากทั้งสงครามการค้าและแผ่นดินไหว รวมทั้งประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2568 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจ
ที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง

ADVERTISMENT

รัฐบาลควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีครั้งใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐ ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน รัฐบาลควรเจรจาบนผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ADVERTISMENT