อาฟเตอร์ช็อก…รุนแรงมากขึ้น จุดเริ่มต้นสงครามการค้าโลก

trade war

หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลก พร้อมกับภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อัตราตั้งแต่ 10-50% กับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐอีกราว 60 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยที่ประเทศไทยก็โดนภาษีตอบโต้ 36%

ขณะที่เป้าหมายสำคัญของทรัมป์ คือ ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ซึ่งเกินดุลสหรัฐค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากจีนย้ายฐานมาตั้งโรงงานในอาเซียน และสวมรอยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ ส่งผลให้อาเซียนโดนเก็บภาษีสูง เช่น กัมพูชา 49% สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 45% เนื่องจากสหรัฐมองว่ากลุ่ม CLMV เป็นโครงข่ายและเป็นพันธมิตรกับจีน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ บรรยายในหัวข้อ “After Shock Reciprocal Tariffs” ว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าตลาดมีความผันผวนรุนแรงต่อนื่อง โดยจะเห็นดัชนีและสินทรัพย์ต่าง ๆ ปรับลดลง เช่น ดาวโจนส์ ร่วง 1,500 จุด หรือ Nikkei และ TWSE ของไต้หวัน ต้องปิดการซื้อขายชั่วคราว

สิ่งสำคัญคือมองว่า “อาฟเตอร์ช็อก” ที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากขึ้น ๆ และขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก แห่งศตวรรษที่ 21

หลังจากนี้ “สงครามการค้า” จะทำให้ “เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน” นำมาถึงการส่งออกลดลง เศรษฐกิจโลกผลิตได้น้อยลง คนตกงานมากขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง ซึ่งเริ่มเห็นคนพูดถึง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” มีโอกาสมากขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า เป้าหมายแท้จริงของทรัมป์ คือ 1.ทลายกำแพงการค้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการขาดดุล พร้อมกับการสร้างระบบการค้าโลกใหม่ (New Global Trading System) 2.สร้างงานในอเมริกา และ 3.หาเงินมาใช้ในการชำระหนี้

ADVERTISMENT

ขณะที่ล่าสุดทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้จีนอีก 50% ทำให้สินค้าจีนส่งไปอเมริกาจะโดนภาษี 104% เมื่อสหรัฐและจีนจะไม่ยอมกันและขึ้นภาษีตอบโต้กัน สิ่งที่จะเห็นต่อไปก็คือ สินค้าจากจีนที่ส่งไปอเมริกาจะลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือ และสินค้าอเมริกาที่ส่งไปจีนก็จะไม่มีเช่นกัน

“โลกการค้าจะเปลี่ยนไป เราต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อเมริกาและเพื่อนค้าขายกัน, จีนและเพื่อนค้าขายกัน, เพื่อนและเพื่อนค้าขายกันเอง แต่จีนและอเมริกาจะไม่ค้าขายกัน”

ADVERTISMENT

ดร.กอบศักดิ์อธิบายว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้โลกเข้าสู่ Multipolar Trading World คือ โลกหลายขั้วและการตัดสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่จะรุนแรงมากขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลมากขึ้น คือ สงครามการค้าของสหรัฐและจีน จะนำไปสู่การเผชิญหน้าในมิติอื่น ๆ จะเกิดขึ้นรวมเรื่องอำนาจและสงครามการทหาร

อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่าการเมืองในอเมริกาจะเป็นตัวตัดสิน ในอีก 20 เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม จะชี้ชะตาสิ่งที่ทรัมป์ทำ

สำหรับทางรอดและทางออกของประเทศไทย ต้องเตรียมการ 5 ด้านพร้อมกัน ดังนี้

1.เริ่มการเจรจา หากเจรจาช้าไทยก็จะสูญเสียโอกาส เพราะปัจจุบันมี 70 ประเทศที่รอเจรจาอยู่

2.รัฐบาลต้องหาวิธีรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจว่าจะทำอย่างไร

3.การรับมือกับสินค้าจีนที่จะเข้ามาอย่างไร เมื่อสินค้าจีนโดนภาษีตอบโต้สูงไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ก็จะทะลักเข้ามา

4.มหากาพย์กำแพงภาษียังไม่จบง่ายแน่นอน ดังนั้นไทยต้องพยายามลดสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 18% อาจจะตั้งเป้าลดลงมาเหลือ 10% และกระจายไปตลาดอื่น ๆ

5.วางตำแหน่งตัวเองท่ามกลางความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ของจีนและสหรัฐ ซึ่งจะพยายามบีบให้เราเลือกข้าง

“เราต้องเรียนรู้ เราไม่ได้อยู่ในฐานะจำยอม เพราะภาษี 36% มันเยอะเกินไป และเราก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กเกินไป ดังนั้นเราต้องเจรจา เพราะตอนนี้มี 70 ประเทศกำลังรอเจรจาอยู่ หากเราเจรจาช้าจะเสียโอกาส โดยในระยะกลางและยาวไทยจะต้องไม่พึ่งพาสหรัฐ ต้องไปตลาดอื่นหรือค้าขายกับคนอื่น”

ดร.กอบศักดิ์ฉายภาพว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้การค้าโลกชะลอตัว โดยขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มได้คำสั่งยกเลิกออร์เดอร์สินค้าแล้ว อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ธนาคารกรุงเทพได้มีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2568 จากเดิมต้นปีคาดว่าจะขยายตัว 3% แต่หลังจากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเกินกว่าคาดหมายและเหตุการณ์แผ่นดินไหว จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% บวกลบ และมีทิศทางจะขยายตัวต่ำกว่า 2.5% โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ภายใต้โลกที่ปั่นป่วนจะเป็นปัจจัยซ้ำเติม

ขณะที่ลงทุนของไทย ภายใต้มรสุมที่มีพายุ เปรียบเหมือนคนที่เล่นสกี เรือใบ ต้องมีความเชี่ยวชาญ ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ จะเห็นว่าหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี เกิดความผันผวนมากมายจากลมปาก และความเชื่อมั่นที่หายไป ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเลย ดังนั้นจำเป็นต้องหาสินทรัพย์ที่มั่นคงมากขึ้น และการลงทุนอาจจะต้องใช้เงินเย็น แต่หากไม่พร้อมควรออกจากตลาด

“เราต้องประคับประคองและรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ การส่งออกและท่องเที่ยวให้ได้ ทั้งต้องทำให้บริษัทที่จะมาลงทุนในไทยลงทุนเร็วขึ้น และเราต้องเตรียมตัวเลือกข้าง เพราะในอนาคตระบบการค้าโลกจะเปลี่ยนไปสู่ผู้มีอำนาจใหญ่ จากเดิมคนตัวเล็กได้ประโยชน์มีคนดูแล แต่ต่อไปคนตัวเล็กจะไม่ได้รับการปกป้อง และจะมีการค้าขายแบบแบ่งขั้วมากขึ้น เป็น Multipolar Trading World และเกิดการจับขั้วเพื่อแข่งขัน เราจึงต้องเตรียมการและใช้ทุกปาร์ตี้ในการเจรจา”