ดอลลาร์ผันผวน ขณะตลาดกังวลสงครามการค้า

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 8-11 เมษายน 2568

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (8/4) ที่ระดับ 34.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/4) ที่ระดับ 34.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนตัวในทิศทางผันผวนอย่างมากหลังจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงจีนนั้น รัฐบาลจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เป็น 84% จากเดิม 34% ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงในช่วงแรกปรับตัวอ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดีในวันถัดมาด้านทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรรวมทั้งหมดต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน สู่ระดับ 125% เมื่อวานนี้ แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับที่ ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้สกัดการไหลทะลักของยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐก่อนหน้านี้

ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ เงินเยน และเงินฟรังก์มีความต้องการเข้าซื้อสูง และนักลงทุนทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ในสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวน ความเสี่ยงด้านนโยบายของสหรัฐ และรอความชัดเจนอีกครั้ง ส่วนประเทศที่ไม่ได้มีมาตรการขึ้นภาษีตอบโตสหรัฐนั้น ทางสหรัฐจะมีการเลื่อนการเก็บภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วัน

ขณะที่ประธานาธิบดีของจีน นายสี จิ้นผิง ได้ประกาศเตรียมเข้าพบผู้นำหลาย ๆ ประเทศในอาเซียนในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือร่วมกันในหลาย ๆ มิติ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงวานนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลง 3.3 จุด สู่ระดับ 97.4 ในเดือนมีนาคม โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน และเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 98.9 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการใช้นโยบายกำแพงภาษี ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5%

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 3.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าว นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนมิถุนายน และมีความเป็นไปได้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1% ภายในสิ้นปีนี้

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รายงานอย่างต่อเนื่องกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องความคืบหน้าในการหามาตรการต่าง ๆ ไว้เจรจากับทางสหรัฐ เพื่อเตรียมจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่เตรียมไว้เพื่อรับผลกระทบสงครามการค้าครั้งนี้ โดยกล่าวว่าการดำเนินการเร่งเจรจากับทางสหรัฐอย่างประเทศอื่นนั้นอาจจะไม่ส่งผลดี เนื่องจากสามารถประเมินความต้องการที่แท้จริงของทางสหรัฐในมาตรการภาษีครั้งนี้ ยกตัวอย่าง

เช่น ประเทศแคนาดา และเวียดนามที่มีการเกินดุลสหรัฐ ถึงแม้ทั้งสองประเทศนี้มีการเร่งเจรจากับทางสหรัฐ แต่สุดท้ายก็ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแผนกลยุทธ์ที่เตรียมไว้นั้นคือการปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งทั้งสองประเทศ เช่น การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐที่มีความสามารถในการผลิตได้มากกว่าบริโภค ภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการแปรรูปของไทยเพื่อส่งออกสินค้าขายไปทั่วโลก โดยแนวทางที่จะสามารถสร้างพันธมิตรกับทางสหรัฐได้โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ นายศุภวุฒิยังกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกไปสหรัฐ เช่น การพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะสั้น และยังคงเตรียมแผนมอบเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการตีตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปยังสหรัฐ โดยคาดว่าแผนการนี้จะมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท โดยจุดประสงค์ของแผนนี้คือช่วยผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.27-34.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/4) ที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (31/3) ที่ระดับ 149.15/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/4) ที่ระดับ 150.58/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ธนาคาร UBS ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยูโรโซนสำหรับปี 2025 และ 2026

โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ และผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ล่าช้า ธนาคารคาดการณ์ว่าการเติบโตของยูโรโซนจะอยู่ที่ 0.5% ในปี 2025 ลดลงจาก 0.9% และอยู่ที่ 0.8% ในปี 2026 ลดลงจาก 21.1% ในขณะเดียวกัน UBS ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2027 เป็น 1.5% จาก 1.2% โดยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวจากการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ UBS คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนเมษายนและมิถุนายน ทำให้อัตราเงินฝากอยู่ที่ 2% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกลับมาในช่วงปลายปี 2026 โดย ECB อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับไปที่ 2.5% เมื่อแรงกดดันเงินเฟ้อจากการขยายตัวทางการคลังเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี นายเบิร์น แลงจ์ ประธานคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรปกล่าวว่า ยังพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐ เนื่องจาก EU และสหรัฐยังคงมีโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0880-1.1381 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/4) ที่ระดับ 1.1345/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (8/4) ที่ระดับ 147.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/4) ที่ระดับ146.06/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันจันทร์ (7/4) นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ทางญี่ปุ่นมีแผนการจะไปเจรจาเรื่องมาตรการเก็บภาษีนำเข้ากับทางสหรัฐเร็ว ๆ นี้

ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกอย่างหนักจากมาตรารภาษีครั้งนี้ นายอิชิบะยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่ในสหรัฐ โดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นโดยตรงในสหรัฐมีมูลค่าราว 418 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราการจ้างงานสหรัฐมากถึง 2.3 ล้านตำแหน่ง ขณะนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเร่งมือประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้

ด้านนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษี โดยกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเผชิญกับความไม่แน่นอนในระดับที่รุนแรงขึ้น นายอุเอดะได้แถลงว่า BOJ จะจับตาผลกระทบของมาตรการภาษีที่มีต่ออุตสาหกรรมและการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และ BOJ จะทำการตัดสินใจ “อย่างเหมาะสม” ว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อหรือไม่

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.84-148.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/4) ที่ระดับ 413.16/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ