มรสุมเศรษฐกิจไทย จับตามาตรการรัฐ-กนง.หั่นดอกเบี้ย

Big Daddy Trump

โลกตอนนี้ปั่นป่วนกันไปหมด จากการดำเนินนโยบายภาษีที่รุนแรง และคาดเดาไม่ได้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบย่อมเกิดต่อเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบขึ้นกับ 3 ระยะ

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การชะลอภาษีตอบโต้ของทรัมป์ออกไป 90 วัน เป็นการหยุดเพื่อเจรจา แต่ข้อดีคือ แรงกดดันต่อไทยหายไปค่อนข้างมาก แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ และอยู่ที่ว่าทางไทยจะได้ไปเจรจาเมื่อใด หากประเทศอื่นเจรจาเสร็จแล้ว แต่ไทยยังเจรจาไม่เสร็จก็จะยุ่ง ซึ่งแม้ว่าจะเจรจากับสหรัฐแล้ว ก็ยังมีประเด็นที่ว่า บางเรื่องเจรจามาแล้ว คนในประเทศเห็นด้วยหรือไม่ด้วย อย่างเช่น เรื่องการนำเข้าเนื้อหมู เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) มี 3 ระยะ ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้โตลดลงกว่า 1% หรือโตเหลือไม่ถึง 2% โดยผลกระทบระยะแรก คือ ผลกระทบจากภาษี ซึ่งวันนี้ยังไม่โดน 36% โดนแค่ 10% ก่อน แต่ถ้าครบ 90 วันแล้ว จะโดน 36% หรือไม่ ยังไม่รู้

ขณะที่ผลกระทบระยะที่สอง คือ ไทยจะเอาอะไรแลก เช่น นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่ม เปิดบางเซ็กเตอร์ไปลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่จะไปแลก ตรงนี้ต้องลดผลกระทบระยะแรกอยู่แล้ว จึงคาดว่ากระทบจริง ๆ ไม่มาก แต่ยังมีผลกระทบระยะที่สาม คือ ผลกระทบทางอ้อม ที่หากมีการขึ้นภาษีแล้ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแค่ไหน แล้วจะมากระทบไทยเท่าไหร่

“ผลกระทบต่อจีดีพีจะเป็น 3 ระยะ คือ หนึ่ง ขึ้นกับภาษีที่เราโดน ระยะเวลาที่เราโดน สอง ของที่เราเอาไปแลก หากเป็นของที่เราซื้ออยู่แล้ว แค่จ่ายเพิ่มนิดหน่อย ก็คงกระทบจีดีพีไม่มาก ก็จะมีเรื่องที่สาม คือ ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอ ดังนั้นเฉลี่ยแล้ว ผมก็ยังหวังว่าผลกระทบไม่น่าจะมากกว่า 1% ที่เราประเมินเอาไว้ ยกเว้นว่าโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งโอกาสเกิดน้อยลงแล้ว”

กนง.ไม่ควร “เก็บกระสุน”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐจะเลื่อนบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้กับประเทศต่าง ๆ ออกไป แต่ตนเองมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ก็ยังควรจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่ควรเก็บกระสุนไว้อีก

ADVERTISMENT

“สมัยก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยกลัวจริง ๆ ว่า ถ้าลดดอกเบี้ยเร็วไป จะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม หรือจะไปทำให้เกิดฟองสบู่ แต่ผมคิดว่าตอนนี้ข้อกังวลเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว เพราะแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อด้วยซ้ำ ดังนั้น หนี้ครัวเรือนไม่ใช่ประเด็น ส่วนฟองสบู่ก็ไม่มี วันนี้ผมเชื่อว่า เหตุผลที่ไม่อยากลดดอกเบี้ย หายไปหมดแล้ว เหลืออย่างเดียวก็คือ เก็บกระสุน แต่จะเก็บไปเพื่ออะไร ในเมื่อวันนี้ศัตรูมารอหน้าบ้านแล้ว”

ทั้งนี้ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเจอความท้าทายหลายเรื่องมาก เรื่องแรกคือ การท่องเที่ยว ที่มีเรื่องนักท่องเที่ยวจีนหาย สอง แผ่นดินไหว ก็คงมีปัญหาในระยะสั้นแน่ ๆ สาม แม้ว่าทรัมป์จะยังไม่ประกาศภาษีตอบโต้ แต่ต้องอย่าลืมว่าตอนนี้ภาษีขึ้นจาก 0% เป็น 10% แล้ว ดังนั้นจะเห็นผลกระทบแน่นอน ซึ่งเศรษฐกิจโลกคงชะลอตัว

ADVERTISMENT

“ผมคิดว่าลดดอกเบี้ยเลยดีกว่า ถ้าไปรอให้เกิดผลกระทบ ไม่รู้จะไปรอทำไม ซึ่งจากความท้าทายที่มี ผมว่าจะทำให้การตัดสินใจรอบนี้ไม่ยากขนาดนั้น และสุดท้ายข้อเท็จจริง ผมยังเชื่อว่านโยบายการเงินตอนนี้ยังเข้มเกินไป เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าเงินเฟ้อตั้งเยอะ ห่างอยู่ตั้ง 120 bps ควรจะต้องเอาลงมาให้ใกล้กันมากขึ้น แล้วถ้าลดลงไป ไม่ใช่กระสุนไม่มี อยู่ที่ว่ากล้าใช้กระสุนหรือเปล่า เพราะยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำได้”

นอกจากนี้ KKP ยังมองว่า มีโอกาสที่ กนง.จะต้องลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าด้วย โดยดอกเบี้ยน่าจะลงไปอยู่ที่ระดับ 1.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2%

ตั้งคำถาม “China Plus One”

“หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP” กล่าวว่า ในมุมนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย วันนี้ยังค่อนข้างฝุ่นตลบ โดยอุตสาหกรรมที่กระทบหนักสุด คือ นิคมอุตสาหกรรม ที่จะเห็นว่าหุ้นตกมาก เพราะนี่คือ Deglobalization หรือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการค้าของจีน “China Plus One” ที่มาผลิตในไทยเพื่อส่งออก

“วันนี้คนตั้งคำถามถึงธีม China Plus One ดังกล่าวกันหมดแล้ว หลังจากมีกำแพงภาษี ว่าแล้วการลงทุนในลักษณะแบบนี้จะยังมีอยู่หรือเปล่า”

ไทยอ่อนแอจากหลายปัจจัย

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้มีการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ลงจากเดิม 2.7% เหลือ 1.8% แม้ว่าสหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยแค่ 10% แต่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ กำลังซื้ออ่อนแอ มีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ เกิดแผ่นดินไหว และนักท่องเที่ยวจีนมาน้อย ซึ่งทำให้จีดีพีลดลงจากหลากหลายปัจจัย

สำหรับนโยบายการเงิน จากเดิมที่เคยคาดว่า กนง.จะรอดูตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 ออกมาก่อน ในวันที่ 19 พ.ค. 2568 จึงจะพิจารณาลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 3 ครั้ง ในเดือน เม.ย., มิ.ย. และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากระดับ 2.00% ลงมาอยู่ 1.25% ต่อปี แต่ถ้าเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคาดอาจมีการลดดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1.00%

“ดร.อมรเทพ” กล่าวว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ระหว่างไทยกับสหรัฐ จะกดดันเงินบาทเพิ่มเติม จึงต้องระวังเงินบาทผันผวนอ่อนค่าอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ หากมีความไม่แน่นอนในการเก็บภาษีที่สูงขึ้น

“ประเมินค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะอ่อนค่าช่วงกลางปี ก่อนจะทรงตัวปลายปี จากปัจจัยที่ดอลลาร์แข็งค่าในภาวะตลาดผันผวน กดดันค่าเงินประเทศเกิดใหม่ รวมถึงค่าเงินบาท”

ลุ้นเจรจาสหรัฐ-มาตรการดูแล ศก.

“ดร.อมรเทพ” มองว่า มาตรการภาครัฐที่ควรเร่งทำนั้น คือ ต้องมีทีมเจรจาเพื่อตั้งหลักต่อคิวไว้ก่อน เพราะไทยยังมีไทม์ไลน์เหลือ 90 วัน โดยพยายามเจรจาในเรื่องลดดุลการค้ากับสหรัฐให้ได้ และลดกฎระเบียบเรื่องที่ไม่ใช่ภาษี

ขณะเดียวกันภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัว ควรหามาตรการเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ระดับกลางและล่าง อาจจะเป็นการสร้างอาชีพ รวมถึงการดูแลกลุ่มระดับกลางและบนที่ขาดความเชื่อมั่น ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เกิดการใช้จ่าย โดยควรใช้มาตรการการคลังดูแลเฉพาะจุด และมาตรการการเงินมาเสริม รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

“การออกมาตรการต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ แม้ว่าการแจกเงินจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ควรเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียน การสร้างงาน-สร้างอาชีพด้วย เป็นต้น ขณะที่การเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากผ่าน 90 วันไปแล้ว เราต้องกลับมาเสียภาษีในอัตรา 36% ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมาก”

ประเมินผลกระทบ-ดูแลส่งออก

ฟาก “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ พบว่าตอนนี้สินค้าส่งออกมีการชะงักบ้าง ซึ่งคงต้องดูว่าจะต้องปรับอย่างไร ทั้งทิศทางการส่งออก วิธีหาตลาด โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมการเข้าไปเจรจากับ USTR

ส่วนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องดูตามช่วงเวลา และดูว่ามีการชะลอตัวตรงไหนบ้าง เพื่อเข้าไปแก้ตรงนั้น

“ถ้าภาษีทรัมป์ออกมาแล้ว หากเราดูว่าอาจจะมีการชะลอตัวของการส่งออก ก็ต้องมาดูว่าแล้วเราจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกยังไง ซึ่งก็ต้องมานั่งคุยกัน” เลขาธิการ สศช.กล่าว