
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
หน่วยงานที่เปรียบเสมือนด่านหน้าของการประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “กรมศุลกากร” ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อสถานการณ์การค้าโลกมีความผันผวนจากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ย่อมส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกจำนวนมาก เมื่อถามว่า แล้วบทบาทของกรมศุลกากรจะต้องทำอะไรบ้างนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ธีรัชย์ อัตนวานิช” อธิบดีกรมศุลกากร ถึงเรื่องราวเหล่านี้
โดย “ธีรัชย์” บอกว่า ในตอนนี้ การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยของสหรัฐ คงยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนในตอนนี้ เพราะทรัมป์เพิ่งประกาศภาษีออกมา อย่างไรก็ดี สงครามการค้าจะมีผลกระทบกับการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ ที่จะได้รับผลกระทบ 5 อันดับแรก ได้แก่ โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตู้ไฟ และเซมิคอนดักเตอร์
“สถานการณ์จัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร ก็ถือว่าพอไปได้ แต่คงไม่ได้ดีมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ครึ่งปีงบประมาณ จัดเก็บได้ใกล้เคียงกับที่จัดเก็บได้ในปี 2567 ส่วนภาพทั้งปีก็พยายามไม่ให้ต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่การจะเก็บให้เพิ่มขึ้นก็คงยาก เพราะมีสงครามการค้าด้วย ฉะนั้นก็น่าจะกระทบกับการนำเข้าส่งออก เพราะของออกไปไม่ได้ ของที่จะเข้ามาเป็นวัตถุดิบก็จะน้อยลงไปด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบ ก็ต้องดูตัวเลขจัดเก็บรายได้เดือน เม.ย.นี้ก่อน ซึ่งเดือนนี้ก็มีวันหยุดเยอะด้วย”
“อธิบดีกรมศุลกากร” กล่าวว่า กรมศุลกากรจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้ได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ
“นโยบายทรัมป์คาดเดาได้ยาก เพราะมีการตอบโต้กันแบบวันต่อวัน ทำให้คนทำการค้าวางแผนยาก ส่วนกรมศุลกากร เราก็ทำงานปกติของการทำพิธีการนำเข้าส่งออก แต่ถ้าหลังจากนี้มีผลกระทบในแง่ปริมาณสินค้าก็จะเป็นอีกเรื่อง แต่กระบวนการทำงานก็ยังเหมือนเดิม เพราะเราไม่ได้คิดภาษีเพิ่ม ไม่ได้มีมาตรการตอบโต้ ภาษีที่เพิ่มคือ ฝั่งสหรัฐเป็นคนเก็บเพิ่ม”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าตามหลักการแล้ว ก็มีความเสี่ยงในแง่ที่ว่า เมื่อสินค้าไม่สามารถไปที่หนึ่งได้ ก็ต้องหาที่ไปที่อื่น ดังนั้นก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่จะมีสินค้าทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งก็ต้องตรวจสอบ
ส่วนประเด็นเรื่องใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ต้องเข้มงวดไม่ให้มีสินค้าจากต่างประเทศมาสวมสิทธิแหล่งกำเนิดในประเทศไทยแล้วส่งออก เรื่องนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่กรมศุลกากร ต้องเข้มงวดสินค้าที่มาจากต่างประเทศเข้ามา Process ในไทย แล้วส่งออกไป ซึ่งจะเป็นสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งต้องตรวจให้เป็นไปตามระเบียบ หรือข้อตกลงที่มีการตกลงกันไว้
“อธิบดีกรมศุลกากร” กล่าวว่า กรมศุลกากรจะมีหน้าที่ดูเวลาของเข้ามา ถ้าผู้นำเข้าใช้สิทธิเขตปลอดอากร ก็จะเข้าไปที่เขตปลอดอากร แล้วก็ไปทำกระบวนการผลิตตามที่ตกลงไว้กับบีโอไอ หากผู้ประกอบการอยากได้การรับรองถิ่นกำเนิดจากประเทศไทย ก็ต้องไปขอหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาตรวจ ส่วนหน้าที่กรมศุลกากรก็จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวก ดูเรื่องสินค้าที่เข้ามา ว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วก็อำนวยความสะดวกสินค้าที่ออกไป
“บทบาทหลักจะอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ แต่หากจะตรวจสอบเข้มข้น ก็ต้องมาคุยกันว่า กระทรวงพาณิชย์จะให้กรมศุลกากรช่วยดูแลในเรื่องไหนให้ ซึ่งคงต้องมีการนัดหารือกันต่อไป เพราะนโยบายออกมาว่าจะเข้มข้นเรื่องนี้” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว