ศุภวุฒิ สายเชื้อ : อ่านเกมทรัมป์ วางยุทธศาสตร์ประเทศไทย

supawut ศุภวุฒิ สายเชื้อ : อ่านเกมทรัมป์ วางยุทธศาสตร์ประเทศไทย
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
สัมภาษณ์พิเศษ

“ทรัมป์เลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้ไป 90 วัน ไม่ได้ทำให้ผลกระทบภาพใหญ่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือ อเมริกาเปลี่ยนไปแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ในโลกใหม่นี้อย่างไร” ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และในฐานะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

ดร.ศุภวุฒิให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” อ่านเกมว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้กับ 75 ประเทศไป 90 วัน เพราะเดิมทรัมป์คิดว่าตัวเองมีไพ่ในมือเยอะที่จะจัดการทุกคน เพราะที่ทุกประเทศเกินดุลสหรัฐคือต้องพึ่งพิงสหรัฐ ทรัมป์จึงเล่นเกมใหญ่ วันที่ 2 เมษายน 2568 ประกาศเก็บภาษีทุกประเทศ โดยหวังจะเห็นทุกประเทศต้อง “หมอบ” เข้ามาเจรจา แน่นอนว่าเป้าหมายหลัก คือ จัดการ “จีน”

แต่พอทำไปแล้วไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คิดไว้ โดยเฉพาะกรณี “จีน” และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง ค่าเงินดอลลาร์อ่อน ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็ลง ถูกเทขายหนัก กระแสข้างในเริ่มไม่พอใจ

ทำให้คนใกล้ชิดทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “สกอตต์ เบสเซนต์” และคนใกล้ชิดอีกหลายคนมาบอกให้ทรัมป์รู้ว่า “ทรัมป์มีไพ่ไม่พอ ที่จะซัดทุกคน ทุกประเทศ”

ดังนั้น ทรัมป์จึงต้องถอยและหันมาบี้จีนประเทศเดียว ด้วยการขึ้นภาษี 125%

ทรัมป์ให้เวลาตัวเอง

“การที่ทรัมป์เลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ 90 วัน ไม่ใช่การให้เวลาประเทศต่าง ๆ แต่เป็นการที่ทรัมป์ให้เวลาตัวเองมากกว่า” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ADVERTISMENT

เพราะว่าสิ่งที่ทรัมป์ต้องการมากที่สุด คือให้ สี จิ้นผิง ยกโทรศัพท์ขอมาเจรจา เพราะทรัมป์โพสต์โซเชียลหลายครั้งเพื่อขู่ให้ สี จิ้นผิง โทร.มา และ Bottom Line คือถ้า สี จิ้นผิง โทร.หาเมื่อไหร่ เขาจะบอกกับคนอื่นว่า นี่คือความสำเร็จของนโยบาย ทำให้ สี จิ้นผิง ต้องมาขอเจรจา

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิมองว่า แม้ว่าการเลื่อนเก็บภาษี 90 วันของทรัมป์ จะช่วยให้มีเวลาในการเจรจากับสหรัฐ และรู้ว่า Base Line ของอัตราภาษีที่สหรัฐต้องการคือ 10% (ที่มีผลไปแล้ว) แต่การเลื่อนเก็บภาษี 90 วัน ไม่ได้ทำให้ผลกระทบภาพใหญ่ของการค้าโลกเปลี่ยน แค่เปลี่ยนเซนติเมนต์ของตลาดหุ้นเท่านั้น ขณะที่นักธุรกิจก็คงไม่มีใครกล้าตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานหรือขยายกำลังผลิตอะไร เพราะไม่รู้ว่าหลัง 90 วันจะเป็นอย่างไร

ADVERTISMENT

ต้องยอมสูญเสียบางอย่าง

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวคิดของทรัมป์เรียกภาษีสูง ๆ ให้ทุกคนเข้าไปเจรจา กรอบการเจรจาก็ออกมาเป็น 5 เสาหลัก ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงไป เป้าหมายระยะสั้น คือทำให้สหรัฐไม่เก็บภาษีตอบโต้ 36% และระยะยาว คือการทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับสหรัฐ ให้มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้ในระยะยาว

โดยยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยาก โดยเฉพาะในยุคทรัมป์ที่อเมริกาเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่าง เช่น ต้องยอมเปิดตลาดบางอย่าง เพราะยังไงอเมริกาก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญ และเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญ ที่ต้องทำให้ความสัมพันธ์มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้

“เพราะสิ่งที่ทรัมป์ทําและทุกคนบ่นกันมากที่สุด คือ ไม่มีเสถียรภาพและคาดการณ์ไม่ได้ แล้วทําธุรกิจไม่ได้ ลงทุนไม่ได้ ซึ่งเราต้องการจะให้ออกจากสภาวะปัจจุบันให้เร็วที่สุด”

“แน่นอนในยุคทรัมป์ การที่จะทำให้ความสัมพันธ์มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเราได้ไพ่นี้มา ก็ต้องปรับเพื่ออยู่กับไพ่นี้”

ดร.ศุภวุฒิระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เสนอเปิดเจรจากับอเมริกาอย่างเป็นทางการแล้ว และทาง USTR ก็ตอบรับแล้ว เข้าใจว่าคงต้องมีการกําหนดวันประชุมกันเร็ว ๆ นี้ ก็หวังว่าจะเจรจากระทั่งเมื่อครบ 90 วัน จะมีข้อตกลงร่วมกันได้ โดยเราไม่โดนกลับไปขึ้นภาษีอีก 36%

สู่แผนปรับโครงสร้าง ศก.ไทย

นอกจากการตอบสนองข้อเรียกร้องอเมริกา ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่เรามองว่าประเทศไทยโดดเด่นเรื่องแหล่งผลิตอาหารของโลก จึงวางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นผู้ผลิตและแปรรูปอาหารคุณภาพส่งออก โดยนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐเพื่อแปรรูปอาหารส่งขายทั่วโลก และจะใช้แนวทางนี้เป็นการไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในเชิงภาพใหญ่และเรื่องของความสัมพันธ์กับอเมริกา

ดังนั้น กรอบการเจรจาสำคัญข้อหนึ่ง คือ การซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ซึ่งมลรัฐเกษตรส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของทรัมป์ ของพรรครีพับลิกัน เพราะการนําเข้าสินค้าเกษตร 1 เหรียญ เทียบกับนําเข้าสินค้าอื่น 1 เหรียญ น้ำหนักทางการเมืองในอเมริกาจะสูงกว่า ขณะที่ประเทศอื่นเขาตอบโต้โดยการไม่ซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐ

และสถานการณ์ขณะนี้ถือเป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ประเทศไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะเน้นพึ่งพาการส่งออกที่ไม่ใช่สินค้าไทยก็ไม่มีประโยชน์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร สอดรับกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้ ซึ่งประเทศไทยจะต้องใช้เรื่องนี้ในการทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจ

มองข้ามชอต “โลกหลังทรัมป์”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สิ่งที่คณะทำงานฯเสนอคือการมองข้ามเหตุการณ์ไปถึงโลกหลังทรัมป์ จึงมองว่าประเทศไทยควรจะ Position ตัวเองยังไงเทียบกับสหรัฐ ที่บอกว่านำเข้าสินค้าเกษตรอเมริกามาแปรรูป

นี่คือยุทธศาสตร์ประเทศไทยที่จะทำไปในระยะยาว เพราะเราไม่แน่ใจว่าหลังทรัมป์ เดี๋ยวจะมีทายาททรัมป์หรืออะไรมาเป็นประธานาธิบดีหรือเปล่า

เพราะอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า อย่านึกว่าเป็นแค่ทรัมป์ อาจมีทายาททรัมป์ เพราะว่ามีกระบวนการอยู่ในอเมริกา ที่เรียกว่าโปรเจ็กต์ 2025 ซึ่งมี Agenda อยู่ในนั้น และถ้าแนวคิดฝังรากไปแล้ว ดังนั้นเราต้องมีสมมุติฐานว่า หลังจากยุคทรัมป์ก็ต้องเป็นแบบนี้ การค้าโลกก็จะเปลี่ยนไปตลอด และไม่กลับมาเหมือนเดิม

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องพยายามวางแนวทาง เป็นผู้ที่แปรรูปอาหารคุณภาพโดยใช้สินค้าเกษตรของอเมริกา ต้องใช้ทรัพยากรของเขา แล้วก็น่าจะเป็นอะไรที่เรามีอํานาจต่อรองทางการเมืองได้ดีขึ้นด้วย เพราะเราจะสร้างแนวร่วมที่น่าจะมีพลังทางการเมืองในอเมริกา เป็นแนวร่วมของกลุ่มเกษตรกรอเมริกา มลรัฐต่าง ๆ เมื่อเขาได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์

เปลี่ยนเกม “สินค้าส่งออก” ไทย

ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า สินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐมี 3 ส่วนหลัก หนึ่ง คือ จีนมาลงทุนในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจใช้ชิ้นส่วนของจีนเยอะหน่อย อันนี้ต้องเจรจาว่าอเมริกายอมรับได้หรือไม่ ขณะที่บางส่วนเป็นสินค้าจีนมา “สวมสิทธิ” ซึ่งอันนี้ไม่ได้แน่นอน หน่วยงานภาครัฐก็ต้องจัดการเข้มงวดเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า

ส่วนที่ 2 คือ สินค้าไทย หรือกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นความหวังที่จะส่งออกไปได้ เพราะเป็นสินค้าที่คนอเมริกันต้องกิน ต้องใช้ รวมถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ กลุ่มนี้เราต้องปกป้องให้มากที่สุด ส่วนที่ 3 คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งบริษัทอเมริกันมาลงทุน ซึ่งเราก็ต้องการให้อยู่ในไทย แต่ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทอเมริกันที่ต้องไปเจรจากับทางการสหรัฐเอง ซึ่งทรัมป์ก็ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะเป้าหมายเขาก็ต้องการให้กลับไปผลิตที่อเมริกา

โดย 3 สินค้าส่งออกนี้ สินค้าเกษตรของไทยน่าจะมีสัดส่วนน้อยที่สุด และเติบโตช้าสุดด้วย นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ

“จากที่โลกการค้าเปลี่ยน อเมริกาเปลี่ยน เราต้องเลือกว่าจะส่งออกสินค้าอะไร ซึ่งเราต้องปรับตัวและทั่วโลกก็ต้องปรับตัว”

ปรับนโยบายส่งเสริมลงทุน

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังคบกับจีน จีนยังเป็นประเทศคู่ค้าที่สําคัญ ประเทศไทยไม่มีทางที่จะห่างจากจีนเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์ร่วมกัน ความใกล้ชิดกันมีอยู่ตลอด และจะมีต่อไป เราก็ยังส่งผลไม้ ทุเรียนไปจีนนักท่องเที่ยวจีนมา เราก็ต้อนรับ แล้วทําให้ดีกว่าเดิมด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องการลงทุนจากจีน ที่เข้ามาอยู่ประเทศไทย ถ้าเป็นการลงทุนเพื่อส่งไปขายอเมริกา แล้วอเมริกาไม่ยอมรับ สิ่งนี้ก็คงต้องลดลง เพราะเป็นเงื่อนไขที่มาจากอเมริกา ไม่ได้มาจากเรา เรื่องนี้เป็นโจทย์ของ BOI ที่ต้องไปทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุน ว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่ และจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยจริง ๆ และให้เหมาะสมกับสถานการณ์

จีนยืนเกมยาว-ใครอึดกว่ากัน

ดร.ศุภวุฒิทิ้งท้ายว่า ทรัมป์ทําให้การค้าโลกไม่เสรี WTO พัง ไม่ฟังก์ชั่น แต่สําหรับจีนวางโพซิชั่นตัวเองว่าเป็นทางเลือก ถ้าประเทศที่อยากจะมีความสัมพันธ์กับประเทศที่ยึดถือกฎหลักสากลก็มาอยู่ตรงนี้กับจีน แต่ถ้ายึดหลักตามใจทรัมป์ ก็ไปอยู่กับทรัมป์

“จีนมองเกมยาว โดยยังอยากรักษา WTO ถ้าอเมริกาทําตัวแบบนี้ ระยะยาวจะ Home Alone สิ่งที่ทรัมป์ทำต้องการ Onshoring แปลว่าสินค้าอะไรที่อเมริกาต้องใช้ แทนที่จะนําเข้าก็เป็นผลิตเอง ถ้าสหรัฐทําได้จริง ๆ ต่อไปก็จะไม่ค้าขายกับโลกเลย เพราะถ้าผลิตเองหมด ถามว่าแล้วใครอยากจะซื้อสินค้าส่งออกของคุณ ถ้าถึงตอนนั้น WTO จะเวิร์กกับทุกประเทศ ยกเว้นสหรัฐ”

และในขณะที่ทรัมป์คิดว่า ยิ่งขึ้นภาษีจีนจะกลัว แต่ยิ่งขึ้นจีนยิ่งไม่กลัว และการขึ้นภาษีไประดับ 125% ก็คือไม่มีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐเลย ซึ่งจะกระทบแรงมากกับทั้ง 2 ฝ่าย ประเด็นคือว่าใครจะอึดกว่ากัน เพราะสี จิ้นผิง ไม่ยอมเสียหน้าแน่ ส่วนทรัมป์ก็นึกว่าตัวเองมีไพ่เหนือกว่า เพราะจีนส่งออกไปอเมริกามากถึงปีละ 4 แสนล้านเหรียญ ทรัมป์มองว่าตัวเองมีกระสุนมากกว่า แต่จีนก็ไม่ได้กลัว

ดร.ศุภวุฒิสรุปว่า สำหรับเกมนี้คนที่จะอึดกว่าได้ ต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถคุมประชาชนของตัวเอง ให้สามารถอึดไปด้วยกันได้