พิชัย บินถกต่อรองภาษีสหรัฐฯ เร็วๆนี้ ชี้ BOI ต้องปรับแผนดึงดูดลงทุน

พิชัย เตรียมบินหารือสหรัฐฯ เร็วๆนี้ ย้ำ 5 แนวทางต่อรองทางภาษี ชี้ BOI ปรับแผนยุทธศาสตร์ หนุน local content เพิ่มขึ้น ยันไม่นำเข้าหมูในตอนนี้หวั่นกระทบเกษตรกร

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม แนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ว่าการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกายังไม่ฟันธงว่าวันไหน เนื่องจากต้องรอดูสหรัฐฯ ก่อน ส่วนการหารือจะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายนนี้หรือไม่นั้น ก็พอมีโอกาสที่ตนจะได้เดินทางหารือภายในเร็วๆนี้ ซึ่งจะมีพูดทั้งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และ บุคคลสำคัญที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำงานด้วย

“การหารือระดับประเทศ จะมีแต่ละขั้นตอนเราไม่สามารถจะข้ามขั้นตอนได้ ซึ่งไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่สหรัฐมองว่ามีปัญหาเร่งด่วนเท่ากับบางประเทศ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่จังหวะเวลา” นายพิชัย กล่าว

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ไทยในสหรัฐ เช่น การลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งบริษัทเอกชนไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้อยู่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เนื่องจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์เป็นโลกแบ่งขั้ว และการกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต ดังนั้นคงต้องทบทวนเรื่องนี้ เช่น คนที่เข้ามาลงทุน อาจจะต้องกําหนดให้รัดกุมมากขึ้น อย่างค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย จะต้องมีส่วนของ local content เพิ่มขึ้น และจะต้องหาตลาดส่งออกใหม่ที่ไม่ใช่สหรัฐด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ 5 แนวทางที่จะไปหารือกับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น 1.การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ย้ำว่าต้องได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย “Win-Win Solution” และสามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้

“ปัญหาคือสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศส่วนใหญ่เกือบทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน ดังนั้นการแก้ไขการขาดดุลการค้าให้ลดลงและเข้าสู่จุดที่สมดุลแน่นอนไม่สามารถทําได้ใน 1-2 ปี ฉะนั้นโจทย์ก็คือนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น แต่จะต้องจัดสรรการนำเข้าอย่างเหมาะสม พร้อมกับหาทางส่งออกทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลกมากขึ้นเช่นกัน”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรมากมาย ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่แปรรูปที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในด้านอาหารสำเร็จรูปสำหรับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือว่าเป็นอาหารพรีเมี่ยมเกรดที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ซึ่งสามารถส่งออกได้ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี แต่ยังมีความต้องการที่สูงกว่าการผลิต ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มความต้องการในตลาด

“การแปรรูปเรื่องของอาหารของสัตว์เลี้ยง มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ประมาณ 3% ของตลาดโลก หากสมมุติตั้งเป้า 5-7 ปีเป็น 6% ก็สามารถผลิตอาหารสัตว์ 28 ล้านตัน ก็จะทําให้เพิ่มกําลังการผลิตในประเทศ และนำเข้าซื้อวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น สัดส่วนก็ในประเทศก็เพิ่มขึ้น” นายพิชัย กล่าว

ADVERTISMENT

ขณะที่การนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยในขณะนี้จะยังไม่นำเข้าหมูเนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศและผู้บริโภค โดยมีการวิเคราะห์ว่าหมูในประเทศมีปริมาณเพียงพอหรือไม่ และหากนำเข้าหมูจากต่างประเทศจะส่งผลดีหรือไม่ต่อราคาหมูในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน หมูในประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่มีการพิจารณาว่าการนำเข้าหมูอาจทำให้ราคาหมูในประเทศลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงหมูในประเทศ. รัฐบาลจึงต้องพิจารณาว่าจะสนับสนุนการผลิตในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น หรือจะนำเข้าหมูเพื่อให้ผู้บริโภคได้ซื้อในราคาที่ถูกลง

2. ลดภาษีการนำเข้าสินค้าของสหรัฐให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบในตลาดโลก

3. ป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าไทย โดยจะให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตจากไทยมากขึ้น เพื่อต้องทำให้สหรัฐเชื่อมั่นในสินค้าไทย หลังจากนี้จะมีการเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่จะส่งออกให้สหรัฐมากขึ้น

4. ลดขั้นตอนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

5.หาโอกาสลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องก๊าซธรรมชาติ