
ดีเอสไอ-สตช. จับกุม “กชพร” เป็นผู้ต้องหารายที่ 15 คดีหมอบุญฉ้อโกง 1.6 หมื่นล้าน หลังเดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทย ตั้งแต่ ก.ย. 67 ผู้ต้องหารายนี้มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงทุน โดยการนำเงินมาให้หมอบุญกับพวกกู้ยืม ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินต้น เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เร่งติดตามจับกุมตัวหมอบุญที่ยังหลบหนีอยู่ เพื่อนำมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่ออาชญากรรมคดีพิเศษที่มีผลกระทบมูลค่าความเสียหายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมบูรณาการสืบสวนติดตามเบาะแสข้ามประเทศ ด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันปราบปรามอาชญกรรมข้ามชาติอย่างใกล้ชิดกับตำรวจสากลและพันธมิตรหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจนสามารถจับกุม น.ส.กชพร (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์จัดหาแหล่งเงินทุนให้กับนายแพทย์บุญ วนาสิน ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 136/2567 กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้อย่างรวดเร็ว
โดยวันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร้อยโทธีรนิติ วิริยะกิตติ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ
พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว และ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.เดโช โสสุวรรณากุล รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ได้ร่วมกันจับกุมตัว น.ส.กชพร ซึ่งต้องหาว่าร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาได้ที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง โดย น.ส.กชพร เดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้รับโอนสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีผู้กล่าวหาและผู้เสียหาย จำนวนกว่า 605 ราย ปรากฏมูลค่าความเสียหาย 16,100,602,806 บาท ได้ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมอายัดทรัพย์และส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568
มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายแพทย์บุญกับพวก รวม 16 ราย มีผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบุญ (สงวนนามสกุล) น.ส.กชพร และ น.ส.ฐิติพร หลบหนีไปยังต่างประเทศ จึงได้แจ้งไปยังองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ออกประกาศตำรวจสากลสีแดง (Red Notice) ซึ่งก่อนหน้านี้ (วันที่ 7 เมษายน 2568) กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกันจับกุมตัว น.ส.ฐิติพร ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของนายแพทย์บุญ เช่นเดียวกันได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
อนึ่ง น.ส.กชพร เป็นผู้ต้องหารายที่ 15 ที่ถูกจับกุมตัวในคดีพิเศษที่ 136/2567 มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงทุนโดยการนำเงินมาให้นายแพทย์บุญกับพวกกู้ยืม ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินต้น จึงเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ติดตามจับกุมตัวนายแพทย์บุญที่ยังหลบหนีอยู่เพื่อนำมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป