
กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.25-33.90 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนกังวลการถือครองพันธบัตรสหรัฐ หลังสงครามการค้าทำตลาดปั่นป่วน ด้านในประเทศคาด ธปท.ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ในปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.25-33.90 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 33.55-34.99 บาทต่อดอลลาร์
โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 เดือนก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยเงินยูโรแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี หลังจากสหรัฐและจีนยกระดับความรุนแรงในสงครามการค้าระหว่างกัน แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะระงับการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับอีกหลายประเทศเป็นเวลา 90 วัน
โดยตลาดหุ้นโลกและพันธบัตรสหรัฐเหวี่ยงตัวผันผวนสูง หลังรัฐบาลสหรัฐปรับทิศทางมาตรการอย่างไม่คาดคิด
ทางด้านค่าเงินหยวนจีนในประเทศร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2550/51 ขณะที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีเพิ่มจากจีนเป็น 145% หลังจากจีนตอบโต้ด้วยอัตราภาษี 125%
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 2,248 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 5,521 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการถือครองพันธบัตรสหรัฐจะยังคงเป็นประเด็นชี้นำสำคัญ โดยเฉพาะหากมีการตั้งคําถามมากขึ้นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ที่ได้รับสถานะปลอดภัยที่สุดในภาวะตลาดปั่นป่วน เห็นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ระยะยาวพุ่งขึ้น
ขณะที่หุ้นสหรัฐร่วงลงท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า ประกอบกับการดิ่งลงของยิลด์ที่แท้จริงของพันธบัตรสหรัฐรุ่นระยะสั้นถ่วงดอลลาร์ลงอย่างมีนัยสำคัญอีกทางหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศจากทรัมป์เพื่อผ่อนผัน Reciprocal Tariffs สำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีบ่งชี้ว่าวงในทำเนียบขาวขาดแนวคิดเชิงยุทธ์ศาสตร์ต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ ในเวลาเดียวกันแผนลดภาษีภายในเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการคลังสหรัฐ
นอกจากนี้ ผู้ร่วมตลาดจะติดตามการเข้าสู่โต๊ะเจรจาของประเทศต่าง ๆ ระหว่างช่วงระงับภาษีนำเข้า รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 17 เมษายน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งจดหมายชี้แจงต่อกระทรวงการคลัง กรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมาย เรามองว่าผลจากสงครามการค้าและความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจจะชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป เปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในปีนี้