ตรึงดอกเบี้ยอุ้มศก.โตกระจาย ธนาคารรัฐชี้สัญญาณขึ้นสิ้นปีนี้

“วิรไท” ชี้รอเศรษฐกิจไทยโตกระจายตัว-เงินเฟ้อเข้ากรอบ เป็นสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ชี้เสี่ยงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ไม่ห่วงเงินไหลออก มั่นใจเงินบาทเทียบดอลลาร์ของไทย แกร่งกว่าสกุลเงินเพื่อนบ้าน เผยแบงก์พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกู้บ้าน ธอส. ลั่นตรึงดอกเบี้ยกู้บ้านถึงสิงหาฯ “ชาติชาย” ส่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง กนง.ต้านไม่อยู่ขยับขึ้นตามแน่

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นที่ 1.50% โดยมี 1 เสียง ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่วน 5 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ (มีกรรมการลา 1 คน) ซึ่งเริ่มมีเสียงแตก ก็ถือเป็นเรื่องปกติของการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง ถึงแม้ว่าหลายประเทศทยอยกลับมาดำเนินนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทย

ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักอยู่ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้กระจายตัวมากนักส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ และเพิ่งเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-4 %

ดังนั้นหากจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ทาง กนง.จะต้องมั่นใจว่า เงินเฟ้อจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแล้ว หรือเศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น

“จะขึ้นดอกเบี้ย ต้องดูหลายองค์ประกอบ จะดูแค่เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจไม่ได้ ต้องดูหลายด้านรวมกัน แต่การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย ก็ต้องตอบโจทย์ปัจจัยในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งปัจจัยต่างประเทศ เราก็ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่อง” นายวิรไทกล่าว

สำหรับความเสี่ยงที่ กนง.ให้ติดตามใกล้ชิด คือ สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งไทยอาจได้รับผลกระทบ เพราะไทยมีการผลิตและส่งออกสินค้า เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ และอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของไทยได้ เมื่อห่วงโซ่การผลิตได้รับผลกระทบ

ส่วนสถานการณ์เงินไหลออก ที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่านั้น นายวิรไทกล่าวว่าปรับตัวตามทิศทางเดียวกับสกุลหลักทั่วโลก เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินบาทไทย ถือว่ายังแข็งค่ากว่าค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค หรือเทียบกับประเทศเกิดใหม่ที่ค่าเงินอ่อนค่าลงถึง 15-20% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยเติบโตดี และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล โดยคาดปีนี้จะเกินดุลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ค่าเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวตามภูมิภาคนัก

“เงินทุนไหลออก ไทยไม่น่ากังวลเพราะเราพึ่งพาเงินตราต่างประเทศน้อย และต่างชาติถือบอนด์ไทยไม่เกิน 10% ต่างกับประเทศเกิดใหม่ที่ต่างชาติถือบอนด์ 30-40% ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่าไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็งมากหากเทียบกับหลายประเทศ ส่วนเรื่องแบงก์เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยเฉพาะฝั่งดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ก็เป็นภาวะปกติ เนื่องจากดอกเบี้ยบ้านอิงกับตราสารระยะยาว ซึ่งจะอิงกับดอกเบี้ยในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยโลกขยับขึ้น ก็ย่อมเห็นดอกเบี้ยบ้านขยับขึ้นก่อนดอกเบี้ยอื่น ๆ” นายวิรไทกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทยจะเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับดอกเบี้ยกู้บ้านขึ้นกัน โดยจะไม่เห็นดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 1-3 ปีแรก ๆ แล้ว แต่จะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย (MRR) ลบแทน ถึงว่าแม้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังไม่ได้ปรับตามดอกเบี้ยเฟดที่มีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ในส่วนของ ธอส.เนื่องจากยังมีสภาพคล่องอยู่มาก อีกทั้งจะพยายามตรึงดอกเบี้ยคงที่นี้ไว้ถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านจะถูกสุดแล้ว โดย ธอส.จะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้ขึ้นช้าที่สุด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ล่าสุด กนง. ยืนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5% หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมครั้งล่าสุด (12-13 มิ.ย. 2561) ถือว่ามีนัยสำคัญ และยังประกาศจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะทำให้เกิดส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างเฟดกับไทยมากกว่า 1% ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจมีการทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

“ผมคิดว่า ถ้าห่างแค่ 50 สตางค์ น่าจะพอยันอยู่ แต่ถ้าเกิน 50 สตางค์ก็อาจจะต้องมีการทบทวน ผมเชื่อว่า ธปท.และกระทรวงการคลังก็มีการพิจารณาในหลักการของปริมาณเงินไหลเข้าไหลออก และค่าเงินประกอบกัน ซึ่งหากมีเงินไหลออกจนกระทั่งทำให้สภาพคล่องมีปัญหา รวมถึงหลาย ๆ ปัจจัย ดูตัวเลขเงินเฟ้อ” นายชาติชายกล่าว