ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสรุปตัวเลขการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกน้อยกว่าคาด

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังจากมีข้อสรุปสำหรับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและรัสเซียในการประชุมกลุ่มโอเปก ณ กรุงเวียนนา โดยปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ปริมาณที่เคยพูดคุยกันก่อนหน้านี้ เพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่หายไป ประกอบกับเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

+ กลุ่มโอเปกและรัสเซียประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีกำหนดจะเริ่มปรับขึ้นตั้งวันที่ 1 ก.ค. 61 อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิตของบางประเทศ จึงส่งผลให้ตัวเลขกำลังการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจริงเพียง 600,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น

+ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในแถบ Gulf Coast ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 22 มิ.ย. 61 ปรับตัวลดลง 1 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 862 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 12 สัปดาห์ เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบของแหล่ง Permian ใน West Texas ได้ถูกใช้งานเต็มกำลังการขนส่งแล้ว จึงทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายเล็กจะต้องชะลอการผลิตลง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลขการส่งออกน้ำมันเบนซินของอินเดียปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ยังคงซบเซาในช่วงฤดูมรสุมและฤดูห้ามจับปลาในจีน ประกอบกับยังมีอุปทานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น