คลังบี้ “จำนำทะเบียนรถ” บีบขอไลเซนส์คุมดอกเบี้ย

ขุนคลังไล่ต้อนธุรกิจ “จำนำทะเบียนรถ” เข้าระบบ เตรียมออกประกาศให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศต้องยื่นขอใบอนุญาต คุม “ดอกเบี้ย” ไม่ให้เอาเปรียบประชาชน วงในเผย “คลัง-ธปท.” เร่งหาข้อสรุปผู้กำกับดูแล ก่อนร่างกฎหมายตั้งหน่วยงานกำกับอิสระคลอด ขณะที่ผู้ประกอบการ “ลีสซิ่ง-พิโกไฟแนนซ์” ขานรับนโยบายรัฐ ด้านจำนำทะเบียนรถนอกระบบกว่า 3,000 รายทั่วประเทศป่วน

ต้อน “จำนำทะเบียน” เข้าระบบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงกำลังพิจารณาแนวทางการดึงให้ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทการรับจำนำทะเบียนรถเข้ามาอยู่ในระบบ เช่นเดียวกับธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยจะกำหนดให้ป็นอีกประเภทธุรกิจที่ต้องมาขออนุญาต (ไลเซนส์) เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีการกำกับดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบประชาชน เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป แต่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล

“ปัจจุบันธุรกิจพวกนี้ยังไม่มีคนคุม ก็เลยจะกำหนดให้เป็นธุรกิจที่ต้องมาขออนุญาต แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดยังไม่เรียบร้อย” นายอภิศักดิ์กล่าว

ออกใบอนุญาตคุม “ดอกเบี้ย”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางคือจะต้องมีการออกประกาศกระทรวงการคลังเพิ่มประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตภายใต้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) และประกาศเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ว่าถูกเอาเปรียบจากสัญญาเงินกู้จำนำทะเบียนรถที่มีการเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการเงินกู้ที่สูงมาก ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ดี เรื่องการกำหนดเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งในกรณีของจำนำทะเบียนรถจะสูงกว่า 15% ต่อปี ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต ขณะเดียวกันยังต้องหาข้อสรุปเรื่องหน่วยงานที่จะกำกับดูแลด้วย ว่าจะเป็น ธปท. หรือเป็นหน่วยงานอื่น

หารือ ธปท.เรื่องเกณฑ์กำกับ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นมีการกำหนดแนวทางว่า ผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถ อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการลีสซิ่ง ที่มีการให้บริการจำนำทะเบียนรถด้วย จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บ้างก็อยู่ในกลุ่มธนาคาร กับอีกกลุ่มเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติอื่น ๆ อาทิ ทุนจดทะเบียน ก็จะขึ้นกับว่าเป็นผู้ประกอบการกลุ่มไหน เช่น ในส่วนของรายย่อยอาจกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท เช่นเดียวกับผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ ก็มีการเรียกร้องขอให้สามารถทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถได้ด้วย

“ปัจจุบันถ้าเป็นกรณีลีสซิ่งที่เป็นบริษัทลูกของแบงก์ ทาง ธปท.จะกำกับดูแลอยู่ ดังนั้นจึงต้องคุยกันว่าถ้าจะกำกับเรื่องจำนำทะเบียนรถ หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจลีสซิ่ง ทาง ธปท.จะรับไปกำกับดูแลได้หรือไม่” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. …. ซึ่งจะมีการตั้งหน่วยงานอิสระมากำกับดูแลธุรกิจลีสซิ่งจำนำทะเบียน และพิโกไฟแนนซ์ เป็นขั้นต่อไป หลังจากดึงแต่ละธุรกิจเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ ขั้นตอนการออกกฎหมายก็จะต้องใช้เวลา

“พิโกไฟแนนซ์” ตีปีกขานรับ

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย กล่าวว่าหากมีการเปิดขอไลเซนส์เพื่อให้สามารถรับจำนำทะเบียนรถได้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจพิโกไฟแนนซ์เข้าไปขอไลเซนส์จำนำทะเบียนรถเพิ่ม เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เรียกร้องมาโดยตลอด ว่าต้องการให้ปล่อยเงินกู้สำหรับการใช้ทะเบียนรถมาขอสินเชื่อได้ แต่เนื่องจากปัจจุบันติดข้อกฎหมาย จึงยังไม่สามารถทำได้

“หากสามารถทำควบคู่กับไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์ได้ ก็จะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะลูกค้าสามารถใช้ทะเบียนรถมาขอสินเชื่อ ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับการปล่อยกู้ และจะทำให้ผู้ที่ประกอบกิจการต่าง ๆ ที่ต้องการเงินทุนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหาข้อสรุปและความชัดเจนว่า การขออีกหนึ่งไลเซนส์เพื่อให้สามารถรับจำนำทะเบียนรถนั้น จะสามารถใช้สถานที่ประกอบกิจการหรือบริษัทเดียวกันกับบริษัทที่ให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์หรือไม่ หรือต้องตั้งอีกบริษัทเพื่อมาให้บริการจำนำทะเบียนรถ”นายสมเกียรติกล่าว

ขณะที่นายไชยวัฒน์ อึ้งสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททรีมันนี่ หนึ่งในผู้ให้บริการพิโกไฟแนนซ์ กล่าวว่า หากมีการเปิดให้ขออนุญาตให้บริการจำนำทะเบียนรถได้ บริษัทก็จะเข้าไปขอไลเซนส์ด้วย ซึ่งคาดว่ารัฐจะกำหนดทุนจดทะเบียนใกล้เคียงกับธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ที่ 5 ล้านบาท เพราะรัฐบาลน่าจะต้องการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการขนาดรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

“จากการประชาพิจารณ์ล่าสุด ธุรกิจที่ต้องอยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง คือ ลีสซิ่ง เช่าซื้อ แฟกตอริ่ง และพิโกไฟแนนซ์ โดยลีสซิ่งและจำนำทะเบียนรถจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่างกับพิโกไฟแนนซ์ที่เสียเฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เท่านั้น” นายไชยวัฒน์กล่าว

ไม่กระทบลีสซิ่งในระบบ

นายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารธนชาต รองประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของภาครัฐ คือต้องการให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจประเภทนี้เข้าสู่ระบบ และอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของกระทรวงการคลัง หรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อคุ้มครองและดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งเรื่องดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และเรื่องงานบริการอื่น ๆ ดังนั้น ผลลัพธ์สุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ ในส่วนของธนาคาร หรือผู้ประกอบการลีสซิ่งที่ให้บริการจำนำทะเบียนรถในระบบ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร

“การนำผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อจำนำเล่มทะเบียนรถ มาขึ้นทะเบียนนั้น นอกจากง่ายในการกำกับดูแลมาตรฐานแล้ว ยังสามารถช่วยจัดการในด้านหลักเกณฑ์ market conduct เพื่อดูแลผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรม ให้ลูกค้าได้รับสิ่งดี ๆ ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท.” นายธีรชาติกล่าว

นายธีรชาติกล่าวว่า เมื่อมาอยู่ภายใต้กำกับแล้วก็อาจจะมีการดูแลเกี่ยวกับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมซึ่งหน่วยงานที่กำกับก็จะไม่ได้มองเพียงแค่ว่าดอกเบี้ยในภาพรวมควรถูกจำกัดเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วย เพราะผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ในการคิดดอกเบี้ยก็ต้องดูจากเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงื่อนไขการผ่อนชำระ รวมทั้งเครดิตของผู้กู้ ซึ่งในอนาคตต่อไปจะถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดว่าจะได้ดอกเบี้ยสูงหรือต่ำมากยิ่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ดอกเบี้ยก็จะสูงกว่าการเช่าซื้อรถยนต์ เพราะสัญญาเช่าซื้อมีการกำหนดให้กระบวนการติดตามนำหลักประกันทำได้ชัดเจนและง่ายกว่า

ชี้แข่งขันมากขึ้น-ดบ.ถูกลง

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) กล่าวว่า การมีเจ้าภาพกำกับดูแลเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลให้ผู้ให้บริการที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก เข้ามาสู่ระบบอย่างถูกต้อง มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม สำหรับเมืองไทย ลิสซิ่ง มีการคิดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถเฉลี่ยอยู่ที่ราว 23% ถือว่ายังต่ำกว่าผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยถึง 28-36% หากทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบกันหมด และคิดดอกเบี้ยตามที่ภาครัฐกำหนดก็จะส่งผลดีต่อระบบ ทำให้อาจเห็นดอกเบี้ยลีสซิ่ง ดอกเบี้ยรับจำนำทะเบียนรถปรับลดลงจากปัจจุบันได้ เพราะเมื่อมีผู้เล่นมากขึ้น ก็จะส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันแย่งลูกค้า ดอกเบี้ยในตลาดก็จะลดลงโดยธรรมชาติ ขณะที่การแข่งขันก็จะทำให้การให้บริการดีขึ้น ซึ่งก็ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการ สำหรับบริษัทปัจจุบันมีสาขา 1,800 แห่ง เชื่อว่าจะไม่กระทบมาก เพราะลูกค้าเชื่อในการให้บริการที่ดีของบริษัท

จำนำทะเบียนทั่ว ปท. 3 พันราย

นายชูชาติกล่าวด้วยว่า แนวทางนี้น่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายอาชีพที่ผันตัวเองมารับจำนำทะเบียนรถ ทั้งร้านจำหน่ายจักรยานยนต์ ทนายความ ร้านทอง ที่เปิดรับจำนำทะเบียนรถ ซึ่งรวม ๆ แล้วคาดว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่อยู่นอกระบบแต่ละจังหวัดมีไม่ต่ำกว่า 20-30 รายรวมทั้งประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ซึ่งหากผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในการควบคุม ทั้งการให้บริการ และการคิดดอกเบี้ยต้องเป็นธรรมมากขึ้น

“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็คงพร้อมเข้ามาอยู่ในระบบ แต่ก็คาดว่าจะมีผู้ประกอบการบางรายหายไปจากระบบได้ เพราะไม่อยากอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือการกำกับของรัฐ” นายชูชาติกล่าว

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2561 มีบริษัทยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 480 ราย ใน 66 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 46 ราย กรุงเทพมหานคร 39 ราย และร้อยเอ็ด 30 ราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัด วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี

ตจว.จำนำทะเบียนรถคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนำทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ในจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีรายใหญ่ 4 ราย คือ เงินติดล้อ, ศรีสวัสดิ์, ธนชาต และกระบี่รวมทุน ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีสาขาย่อยประมาณ 2-3 สาขา จากการสอบถามพบว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ต่อเดือน ขึ้นกับปีรถที่จำนำ ซึ่งเฉลี่ยแต่ละสาขามีผู้จำนำทะเบียนรถวันละ 1-2 ราย

ขณะที่นายไพบูลย์ จันทร์ทบ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิ่มซี่เส็ง ลิสซิ่ง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของบริษัทมีสาขาให้บริการมากกว่า 400 สาขา ครอบคลุม 11 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเน้นให้บริการจำนำทะเบียนรถสัดส่วนราว 80% กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเกษตรกรรายย่อย ส่วนบริการเช่าซื้อรถมีสัดส่วนเพียง 10-20% กรณีที่ภาครัฐเตรียมออกมาตรการควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถใหม่แบบลดต้นลดดอก บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทมีสัดส่วนเพียง 10-20% ขณะที่ในส่วนของการกำกับดูแลธุรกิจจำนำทะเบียนรถ บริษัทยังไม่ทราบรายละเอียด