รื้อธรรมาภิบาลแบงก์ ธปท.สั่งรีวิว CEO ทุก 4 ปี

แฟ้มภาพ

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องการปรับเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสถาบันการเงินให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น ซึ่ง ธปท.ได้พยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแบงก์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ออกประกาศ “ยกระดับธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน” เพื่อให้แบงก์สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

และในเร็ว ๆนี้ ธปท.ยังเตรียมออกประกาศ เกณฑ์ “การยกระดับธรรมาภิบาลและความเข้มแข็งของการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงิน” เพื่อนำมาบังคับใช้หลังประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย

โดย “ฤชุกร สิริโยธิน” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกระดับดังกล่าว คือ แบงก์ควรมีโครงสร้างที่ดี ทั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคารที่เหมาะสมและกลไกในการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น เช่น การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการอิสระไม่ควรมีวาระติดต่อกันเกิน 9 ปี ซึ่งต้องให้เว้นว่างอย่างน้อย 2 ปี ถึงมีสิทธิดำรงตำแหน่งใหม่ได้

หรือการทบทวนคุณสมบัติของ CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) อย่างสม่ำเสมอทุก 4 ปี เพื่อให้แบงก์แน่ใจว่า ซีอีโอที่แต่งตั้งขึ้นมานั้น ยังมีคุณสมบัติตรงตามที่แบงก์ต้องการเหมือนเดิมหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคณะกรรมการที่ดูแลด้านความเสี่ยง ที่จะต้องเป็นคณะกรรมการอิสระ ซึ่งต่างจากอดีตคนที่มาดูแลความเสี่ยงอาจมาจากฝ่ายจัดการของแบงก์ก็ได้ และอีกข้อที่สำคัญ คือ แบงก์ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน ที่มีประสบการณ์ด้านไอทีด้วย

“เกณฑ์เหล่านี้ไม่เคยมีกำหนดในอดีต แต่วันนี้เรากำหนดขึ้นมาใหม่ อย่างด้านคณะกรรมการจะต้องมีคนที่มีความรู้ด้านไอทีมานั่งในบอร์ดด้วย แต่ก็ยืดหยุ่นให้ถึงปี’62”

ไม่เพียงแค่นั้น ธปท.ยังกำหนดให้แบงก์จะต้องทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ หรือ recovery plan (RCP) ซึ่ง “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. แจกแจงว่า แผน RCP นี้ หลัก ๆ แล้ว ก็คือ แผนล่วงหน้าเพื่อรองรับการจัดการดูแลแก้ไขปัญหา

ซึ่งแบงก์จะต้องเตรียมทำแผนยกระดับการบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องให้ครอบคลุมและครบทุกมิติ เพื่อให้แบงก์สามารถรับมือในเวลาที่ประสบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันการ

โดยแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของแบงก์ ก็จะเหมือนการตรวจสุขภาพ เช่น หากออกกำลังหักโหม รู้ว่าเสี่ยงด้านอะไรก็ต้องป้องกันเอาไว้ แบงก์ก็เหมือนกัน จะต้องเตรียมแผน RCP ไว้ เช่น เตรียมเงินกองทุน ด้านสภาพคล่อง หรือการรับมือกับคุณภาพหนี้ตามความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งแบงก์ต้องทำแผนขึ้นมา พร้อมทดสอบแผนดังกล่าวว่า เวลามีความเสี่ยงเกิดขึ้น แผนนี้จะสามารถรับความเสี่ยงนี้ได้จริง โดยกำหนดให้แบงก์จะต้องส่งแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เดือน มิ.ย. 2562

“การออกแผนนี้ออกมา ไม่ใช่เพราะแบงก์มีปัญหา แต่เพื่อให้แน่ใจว่า การดูแลความเสี่ยงแบงก์ทำได้ครบมิติ ปัจจุบันเงินกองทุนของแบงก์ก็สูงเกิน 18% เงินสำรองก็เกิน 1.7 เท่าของเงินสำรองพึงกัน ซึ่งการออกแผนก็เป็นปกติที่จะทำเมื่อแบงก์มีความเข้มแข็ง”


การยกระดับสถาบันการเงินอีกก้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ จะเป็น “กันชน” ชั้นดี รองรับแบงก์ใช้รับมือยามเกิดความเสี่ยงได้ทุกมิติในอนาคต