ขุนคลังทุบโต๊ะ “บัญชีเล่มเดียว” จี้แบงก์ช่วยลูกค้ารีบปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่

“อภิศักดิ์” ลั่นไม่ผ่อนปรนบังคับใช้ “บัญชีเล่มเดียว” จี้แบงก์ช่วยเตรียมความพร้อมลูกค้าตัวเอง ขณะที่แบงก์กรุงเทพยันเอสเอ็มอียังเข้าถึงสินเชื่อได้ แม้ยังทำบัญชีเล่มเดียวไม่พร้อม ฟาก ธพว.เผยหน่วยงานเกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องมีมาตรการให้เอสเอ็มอีปรับตัว เตรียมออกมาตรการจูงใจดอกเบี้ยต่ำ 1-3% คงที่ 3-7 ปี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะไม่เลื่อนการบังคับใช้มาตรการบัญชีเล่มเดียวที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ออกไปอีก โดยในแง่การปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีนั้นที่ผ่านมาก็ได้มีเวลาให้ปรับตัวมากว่า 2 ปีแล้ว

“ไม่ได้ผ่อนปรน เพราะเรื่องนี้อยู่ในกฎหมาย ส่วนที่บอกว่าเอสเอ็มอีบางส่วนยังไม่พร้อม จะขอสินเชื่ออย่างไร เรื่องนี้ทางแบงก์ก็ต้องช่วยลูกค้าตัวเอง” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ยังยืนยันบังคับใช้เกณฑ์บัญชีเล่มเดียวตามกำหนดเดิม คือ เริ่มใช้ปี 2562 ส่วนมาตรการผ่อนปรน หรือช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่อาจจะยังทำบัญชีไม่พร้อมนั้น แต่ละธนาคารต้องหามาตรการเข้าไปดูแลกันเอง

“ไม่ใช่ว่าเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว คนที่ไม่ทำบัญชีเดียว แบงก์จะไม่ปล่อยสินเชื่อเลย ก็ยังปล่อยได้อยู่ เพียงแต่แบงก์ก็ต้องไปดู ต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเอง” นายสมบูรณ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เชื่อว่าแม้จะบังคับใช้เกณฑ์บัญชีเดียวตามกำหนดเดิม เอสเอ็มอีก็ยังเข้าถึงสินเชื่อได้อยู่ โดยแบงก์ยังปล่อยสินเชื่อให้ได้เหมือนเดิม ไม่ได้ลดวงเงินการให้สินเชื่อ เพียงแต่อาจมีเงื่อนไขมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีมาตรการให้เอสเอ็มอีค่อย ๆ ปรับตัว ทำบัญชีเดียว เพื่อให้อนาคตจะได้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

“การทำบัญชีเดียวสะท้อนให้เห็นถึงที่มาที่ไป งบการเงินที่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าเอสเอ็มอีทำงบการเงินถูกต้อง อนาคตก็เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่ม โดยถ้าทำบัญชีถูกต้อง แบงก์ก็สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อให้สินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า มาตรการบัญชีชุดเดียวถือเป็นมาตรการที่ดีที่ทางภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ เพื่อที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติจะต้องมีกระบวนการที่ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้ปรับตัวด้วย ซึ่งทาง ธปท.ก็ได้มีการระดมความคิดเห็นเรื่องนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย รวมถึงจะมีการหารือกับสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วย ซึ่งแนวทางก็คงต้องมีมาตรการจูงใจให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจโดยจดทะเบียนในรูปนิติบุคคลมากขึ้น และส่งเสริมให้ทำบัญชีอย่างถูกต้อง

“ที่พูดกันมากก็คือ เรื่องดอกเบี้ยที่จะจูงใจ อย่างของ ธพว. เรากำลังคุยอยู่กับสมาพันธ์เอสเอ็มอี ว่าจะมีสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทให้กู้ หากเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะคิดดอกเบี้ยแค่ 1% คงที่ 7 ปี ส่วนถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะคิดดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี หลังจากนั้นก็ลอยตัว” นายมงคลกล่าว

นายมงคลกล่าวอีกว่า เมื่อถึงปี 2562 แล้ว หากผู้ประกอบการยังทำบัญชีไม่ถูกต้อง จะไม่ได้รับผลกระทบในส่วนของวงเงินสินเชื่อเดิมที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านั้น แต่จะกระทบในแง่การขยายงาน และการขอกู้ใหม่ ซึ่งทางแบงก์ก็จะใช้วิธีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันข้างต้น

นายวิเชษฐ์ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะโฟกัสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จัดทำบัญชีเล่มเดียวด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้มากกว่าเอสเอ็มอีกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ดี รายละเอียดอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง และน่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเดือน ก.ค.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ได้ประชุมร่วมกับ ส.อ.ท. ถึงเรื่องการจัดทำบัญชีเล่มเดียว ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งการบังคับใช้ก็จะเป็นไปตามกำหนดเดิม โดยหลังจากนี้จะนัดสมาคมธนาคารไทยทำความเข้าใจร่วมกันอีกที