ไทยพาณิชย์ปรับแผน ชะลอลงทุนดิจิทัล-ไอที หวังฟื้นเชื่อมั่น หลังหุ้นดิ่งสุดรอบ 2 ปี

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นธนาคารฯ เนื่องจากใช้งบลงทุนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา(กำไรแบงก์ลดลง) ทำให้มีการเทขายหุ้น จนส่งผลให้ราคาหุ้นไทยพาณิชย์ต่ำสุดในรอบ 2ปี (124บาทต่อหุ้น) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารมีการระมัดระวังมาโดยตลอด เมื่อกระทบต่อความเชื่อมั่น ธนาคารก็อาจมีการชะลอแผนการลงทุน หรือดึงการลงทุนไว้ก่อน และเลื่อนไปลงทุนในปีหน้าแทน

เดิมธนาคารมีแผนจะลงทุนทั้งหมดให้จบภายในปีนี้ ทั้งด้านการทรานฟอร์มธนาคาร และการลงทุนด้านดิจิทัลต่างๆ ซึ่งเดิม ธนาคารคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายของธนาคารปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน ที่มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ราว 4.7 หมื่นล้าบาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการทรานฟอร์มราว 4 พันล้านบาท

“ก่อนหน้านี้ที่เราไปโรดโชว์ ก็บอกว่ายังต้องลงทุนต่อ ฝรั่งเลยยอกว่างั้นเขาค่อยลงทุน จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ลงทุนไป ออกดอกออกผล อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ถามว่าวันนี้เราก็ระวังเรื่องการลงทุน เราแคร์ความรู้สึกของผู้ลงทุน ทำให้เราต้องปรับแผนตลอด โดยเฉพาะอะไรลงทุนมากไป ก็พยายามชะลอบ้าง ดึงบ้าง ที่ผ่านมาเราเร่งสุดกำลัง เพื่อให้เสร็จและจบไปเลยทีเดียว ขณะนี้เราก็อยู่ในโทนของการเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเกิด เพียงแต่บางเรื่องสามารถดึงให้ไม่เร็วมาก หรือรุนแรงมากก็ได้”นายอาทิตย์กล่าว

อย่างไรก็ตามธนาคารเชื่อว่า การลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านกับธนาคารที่ดีขึ้น ทั้งด้านดิจิทัล ที่ล่าสุด ทำให้ธนาคารมีลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้นเป็น 7 ล้านราย หรือกว่า 4 ล้านรายที่แอคทีพหรือเคลื่อนไหว  จากอดีตที่มีลูกค้าเพียงระดับ2ล้านรายเท่านั้น รวมไปถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาบิ๊กเดต้า ด้านAI ของธนาคารเหล่านี้ก็ช่วยลดต้นทุนให้กับธนาคาร เพื่อไม่ให้เกิดการเลย์ออฟพนักงาน หากธนาคารไม่มีการลงทุนสิ่งเหล่านี้ องค์กรก็ต้องเอาคนออก ดังนั้นการลงทุนด้านดิจิทัล ด้านไอทีจึงจำเป็นกับธนาคารค่อนข้างมาก

ก่อนหน้านี้ นายอาทิตย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าแผนการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในช่วง5ปี ของธนาคาร(ปี 2559-2563) ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยปี2559-2560 ธนาคารใช้งบลงทุนไปแล้วราว1หมื่นล้านบาท

ส่วนกรณีปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ที่มีการตั้งข้อสังเกตุเรื่องของคุณภาพสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคาร นายอาทิตย์กล่าวว่า กรณีการให้สินเชื่อกับกลุ่มพลังงานลมอย่าง วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง เป็นการปล่อยกู้จากทิศทางธุรกิจพลังงานลมที่มีแนวโน้มที่ดี ไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับบุคคล ก็ถือว่าธนาคารได้ดูด้านความเสี่ยงที่ดีแล้ว รวมถึงกรณีบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ซึ่งก็ไม่ได้มีหนี้เสีย นอกจากนี้ JAS ยังมีการคืนหนี้มากกว่าวงเงินที่กำหนดชำระคืนด้วยซ้ำ โดยแนวโน้มเอ็นพีแอลปัจจุบันก็ถือว่าทรงๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้น และปัจจุบันเอ็นพีแอลธนาคารยังอยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับบางธนาคารด้วยกัน