คลังเผย 8 เดือนรัฐบาลเก็บรายได้เกินเป้า 6 หมื่นล้าน แม้เดือนพ.ค.ต่ำเป้า

คลังชี้ภาพรวม 8 เดือนรัฐบาลยังเก็บรายได้เกินเป้า 6 หมื่นล้านบาท แม้ล่าสุด เดือน พ.ค.เก็บต่ำเป้ากว่า 3 พันล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,571,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,008 ล้านบาท หรือ 4.0% โดยมีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 28,887 หรือ 25.7% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ25,629 ล้านบาท หรือ 25.6% ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีรถยนต์ และภาษียาสูบ

“การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังคงสูงกว่าประมาณการ และเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ การขยายตัวในระดับสูงของมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณต่อไป” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,131,629 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,811 ล้านบาท หรือ 0.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3%) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 17,951 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.8%) อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,816 ล้านบาท หรือ 26.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44.0%) เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น

1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 371,693 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,270 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเบียร์ และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,920 7,850 และ 2,620 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.4% 14.0% และ 6.2% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมัน เบียร์ และสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,903 และ 4,307 ล้านบาท หรือ 8.3% และ 10.1% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดี และภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้

1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 72,874 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,426 ล้านบาท หรือ 1.9% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.4%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 1,657 ล้านบาท หรือ 2.3% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.5%) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 16.1% และ 6.6% ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 7 เดือนแรกได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก

1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 125,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,629 ล้านบาท
หรือ 25.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.2%) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ
5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) บมจ. ปตท. (3) ธนาคารออมสิน (4) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ (5) บมจ. ท่าอากาศยานไทย เนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดี

1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 141,198 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 28,887 ล้านบาท หรือ 25.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20.9%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งรายได้ของสำนักงาน กสทช. และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออก
เป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,859 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 597 ล้านบาท หรือ 11.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20.9%) โดยรายได้ด้านเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นสำคัญ

1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 198,102 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,314 ล้านบาท หรือ 9.7% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 148,031 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 22,569 ล้านบาท หรือ 13.2% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 50,071 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,255 ล้านบาท หรือ 2.6%

1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 9,161 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,161 ล้านบาท หรือ 30.9%

1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 11,104 ล้านบาท
ต่ำกว่าประมาณการ 897 ล้านบาท หรือ 7.5%

1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,239 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,380 ล้านบาท หรือ 37.7% ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 – 5 จำนวน 45,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,431 ล้านบาท หรือ 3.2%

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า ในเดือน พ.ค.2561 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 275,188 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,284 ล้านบาท หรือ 1.2% (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2.8%) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ต่ำกว่าประมาณการ 4,815 ล้านบาท หรือ 27.5% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 50.6%) เนื่องจากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้นำส่งรายได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จากที่ประมาณการไว้ว่าจะส่งในเดือนพฤษภาคม 2561

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 5,542 ล้านบาท หรือ 117.3% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 69.0%) เนื่องจากสำนักงาน กสทช. นำส่งรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับสัมปทานของ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นสำคัญ