
กระทรวงการคลังกำลังปรับแผนการคลัง โดยวางแนวทางปฏิรูปภาษี และการหารายได้เข้ารัฐวิธีต่าง ๆ หลังจากครึ่งปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67-มี.ค. 68) ที่ผ่านมา จัดเก็บรายได้แบบ “ปริ่มเป้า” แล้วยิ่งมองไปข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาดไว้เดิม แน่นอนว่าการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้ายิ่งกลายเป็นโจทย์ยาก
สำหรับปีงบประมาณ 2568 มีการทำประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิไว้ที่ 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 89,527 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานว่า รายได้ของกรมสรรพากรและศุลกากร จะขยายตัวตามสมมุติฐานเศรษฐกิจและฐานจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567
ขณะที่ประมาณการว่ารายได้ของกรมสรรพสามิต จะทำได้สูงกว่าปีก่อน เนื่องจากปีนี้ไม่มีการลดภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินเหมือนปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่นจะต่ำกว่าปีก่อน เพราะปีก่อนมีรายการพิเศษจากการนำส่งรายได้เพิ่มเติมจากกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณ 2566 ประกอบกับมีเงินเหลือจ่ายจากกฎหมายกู้เงินในช่วงสถานการณ์โควิด และเงินคงเหลือจากการดำเนินการตามภารกิจคงค้างของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)
ทั้งนี้ ประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2568 ระบุถึงเป้าหมายเก็บรายได้ของแต่ละหน่วยงานไว้ ดังนี้
1.กรมสรรพากร ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 2,372,500 ล้านบาท
2.กรมสรรพสามิต ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 609,700 ล้านบาท
3.กรมศุลกากร ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 122,200 ล้านบาท
4.รัฐวิสาหกิจ ได้รับเป้าหมายนำส่งรายได้ที่ 176,500 ล้านบาท
5.หน่วยงานอื่น ได้รับเป้าหมายนำส่งรายได้ที่ 173,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการอื่น ต้องนำส่ง 162,500 ล้านบาท และกรมธนารักษ์ ต้องนำส่ง 11,000 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2569 (ต.ค. 68-ก.ย. 69) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 นี้ รัฐบาลวางกรอบประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิไว้ที่ 2,920,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 จำนวน 33,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.2% โดยเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน มีดังนี้
1.กรมสรรพากร ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 2,447,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.1%
2.กรมสรรพสามิต ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 578,200 ล้านบาท ลดลง 31,500 ล้านบาท หรือลดลง 5.2% จากนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า
3.กรมศุลกากร ได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 122,200 ล้านบาท เท่ากับปี 2568
4.รัฐวิสาหกิจ ได้รับเป้าหมายนำส่งรายได้ที่ 182,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.5%
5.หน่วยงานอื่น ได้รับเป้าหมายนำส่งรายได้ที่ 164,800 ล้านบาท ลดลง 8,700 ล้านบาท หรือลดลง 5% แบ่งเป็น ส่วนราชการอื่น ต้องนำส่ง 152,900 ล้านบาท และกรมธนารักษ์ ต้องนำส่ง 11,900 ล้านบาท
สำหรับประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมุติฐานแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล รวมถึงการทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ ให้มีเท่าที่จำเป็น
ล่าสุด “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทำแผนเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันการจัดเก็บรายได้รัฐอยู่ที่ 12-13% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 18% ของจีดีพี ซึ่งจะเสนอให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พิจารณาภายในปีงบประมาณนี้

“เรื่องเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร ใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเร็ว แต่สำหรับแนวคิดที่ให้กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการที่มีรายได้ขั้นต่ำ 1.5 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่จะเก็บเฉพาะผู้ประกอบการที่มีรายได้ 1.8 โดย รมว.คลังมองว่า วันนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องดูความเหมาะสม น่าจะเป็นกลุ่มไหน อะไรบ้าง ซึ่งก็ทําการบ้านอยู่”
“ปลัดกระทรวงการคลัง” ชี้ว่า หากสามารถเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5% ซึ่งจะทำให้คลังมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นได้อีก 800,000 ล้านบาท จะช่วยลดการขาดดุล ทำให้สามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้เร็วขึ้น