บาทอ่อนค่า ขานรับสงบศึกสงครามการค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2568

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 33.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/6) ที่ระดับ 32.99/33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ วานนี้ (12/5) โดยนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยในการแถลงข่าว ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า สหรัฐและจีนได้เห็นพ้องที่จะระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ระหว่างสหรัฐและจีนเป็นระยะเวลา 90 วัน

โดยสหรัฐจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 145% เป็น 30% ขณะที่จีนจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จาก 125% เหลือเพียง 10% เช่นกัน อัตราภาษีนำเข้าในระดับดังกล่าวจะทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการค้าต่อกันไม่มากนัก เป็นการปรับสมดุลทางการค้าที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าอัตราภาษีระดับดังกล่าวจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 90 วัน ทั้งนี้ ผลของการระงับมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ที่เป็นผลของการเจรจาครั้งนี้ระหว่างสหรัฐและจีน จะมีผลเริ่มต้นในวันที่ 14 พ.ค. และยังจะมีการเจรจากันอีกครั้ง

โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกเพื่อดำเนินการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าต่อไป โดยจะมีนายสก็อตต์ เบสเซนต์ เป็นตัวแทนของสหรัฐ และนายเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน อีกทั้งสัปดาห์นี้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดหารือกับคู่ค้าราว 20 ราย ทั้งผู้ส่งออกรายใหญ่และเขตเศรษฐกิจเล็ก ๆ

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับ 4 เฟสสำคัญ ได้แก่ เฟสแรก ช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญผลกระทบ,

ADVERTISMENT

เฟสที่สอง ช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญผลกระทบรุนแรง ทำให้เศรษบกิจไทยตกต่ำที่สุด โดยคาดจะเห็นได้ในไตรมาส 4 ปีนี้, เฟสที่สาม ช่วงของการฟื้นตัว และเฟส 4 หลังพายุผ่านพ้นไปที่ไทยต้องปรับตัว หากยังอยู่แบบเดิม โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำแบบเดิมมีค่อนข้างสูง แต่โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตกว่าเดิมก็มีจากการหันไปค้าขายกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็เพื่อให้นโยบายการเงินมีส่วนเอื้อช่วยรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นส่วนหนึ่งการนำมาพิจารณาตัดสินใจลดดอกเบี้ย แต่ภายใต้ Policy space ที่มีจำกัดก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังและการรักษาเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.14-33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 1.1105/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 1.1244/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ถึงแม้นางอิซาเบล ชนาเบล กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนว่า ECB ควรหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอาจผลักดันเงินเฟ้อให้พุ่งเกินเป้าหมาที่ระดับ 2% ในระยะกลาง และเห็นว่าดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ไม่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว

โดยการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบันจะช่วยให้ ECB มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับความไม่แน่นอนและผลกระทบที่เป็นไปได้จากการตอบโต้มาตรการภาษี แต่ทาง ECB ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ย อีกครั้งในการประชุมวันที่ 5 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ECB1 มีโอกาส 90% ที่จะลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือน มิ.ย. และอาจลดอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.1088-1.1124 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1110/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 148.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 145.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (13/5) โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ โดยระบุว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.ที่ผ่านมา กรรมการบางส่วนเล็งเห็นโอกาสที่ BOJ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น

แม้กรรมการส่วนใหญ่มองว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่กรรมการบางคนกล่าวว่าผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะเส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนของ BOJ ต้องหยุดชะงัก

นอกจากนี้ วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยว่า การหารือเริ่มลงตัว ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับนายทรัมป์เป็นไปด้วยดี และมีเป้าหมายจะขจัดภาษีศุลกากรทั้งหมดในการเจรจาการค้าของสหรัฐให้เป็น 0% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 147.62-148.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 147.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อม เดือน เม.ย. จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) และ CPI เดือน เม.ย. รวมถึงอัตราว่างงานเดือน มี.ค.ของอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน พ.ค. จากสถาบัน ZEW ของอียู

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.2/-8.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 6.1/-5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ