เปิดประวัติ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คู่แข่งชิงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่

ประวัติ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คู่แข่งชิงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่

เตรียมยื่นใบสมัครผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อดีตรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB)

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีประสบการณ์หลากหลาย วัย 50 ปี เคยทำงานทั้งในภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นบทบาทที่ต้องขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทั้งองค์กรในบริบทการแข่งขันระดับสูง ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย

ดร.สมประวิณสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Maryland at College Park และสั่งสมประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในบทบาทระดับผู้บริหาร อาทิ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ (Chief Economist) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

รวมถึงรองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดแข็งคือความเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างดี นำข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะทางนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และการจัดการประเด็นขัดแย้งอย่างเป็นระบบ

ในระดับนโยบายสาธารณะ ดร.สมประวิณมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ เช่น การเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการคลัง อนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจในวุฒิสภา และกรรมการในสถาบันวิจัยชั้นนำอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รวมถึงเคยมีบทบาทในคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิด-19 ความสามารถในการฟัง วิเคราะห์ และเชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย มีประสบการณ์ในการผลักดันเสนอนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2568 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2565 รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2560 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ (Chief Economist) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2555 รองศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2551 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2547 อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ADVERTISMENT

ตำแหน่งงานบริหาร/ตำแหน่งอื่น

▪ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มิ.ย. 2567-ปัจจุบัน
▪ กรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก.พ. 2565 – ปัจจุบัน
▪ กรรมการบริหารสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยาวัตร ก.พ. 2564-พ.ค. 2567
▪ อนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก.ย. 2563
▪ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ธ.ค. 2562-พ.ค. 2567
▪ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ม.ค. 2559-มิ.ย. 2560
▪ นักวิจัยอาคันตุกะ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ค. 2559-ม.ค. 2560
▪ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เม.ย. 2555-มี.ค. 2559
▪ กรรมการบริหารคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2554-2559
▪ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เม.ย. 2551-ธ.ค. 2551

งานวิชาการ/การนำเสนอผลงานวิจัย

▪ “สถาบันทางเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตของประเทศไทย,” ร่วมกับ ก้องภพ วงศ์แก้ว, aBRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 9 กรกฎาคม 2563.
▪ “Inside-Out โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน,” ร่วมกับ ก้องภพ วงศ์แก้ว, aBRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 6 พฤศจิกายน 2562.
▪ “เศรษฐกิจไทย ป่วยหรืออ่อนแอ ?,” ร่วมกับ ก้องภพ วงศ์แก้ว, aBRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 5 มิถุนายน 2562.
▪ “ระบบนิเวศสินเชื่อบนฐานข้อมูลข่าวสาร : กุญแจสู่ระบบการเงินที่ทั่วถึง,” ร่วมกับ ตลับลักขณ์ ธนดิษฐ์สุวรรณ, รชฏ เลียงจันทร์, อาภากร นพรัตยาภรณ์, ก้องภพ วงศ์แก้ว, aBRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 10 เมษายน 2562.
▪ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์,” ร่วมกับ ปิติ ดิษยทัต, สมชัย จิตสุชน, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์, ภาวิน ศิริประภานุกูล, อธิภัทร มุทิตาเจริญ, พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม, พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย, aBRIDGEd สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 3 พฤศจิกายน 2559.

บทความวิจัย/หนังสือ

▪ เศรษฐศาสตร์มหภาคขั้นสูง : ทฤษฎีและงานวิจัยเชิงประจักษ์ของระบบเศรษฐกิจไทย, โครงการตำรา ลำดับที่ 66, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธันวาคม 2560.
▪ “Trade Diversification and Crisis Transmission : A Case Study of Thailand,” with Kornkarun Cheewatrakoolpong, Asian Economic Journal, 29(4), 2015, 385-408
▪ “การศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายพื้นที่ของประเทศไทย,” เอกสารรวมบทความวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 3, ตุลาคม 2550.

โครงการทุนวิจัย

  • นักวิจัย โครงการศึกษาผลของการค้าระหว่างประเทศ ผ่านห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มที่มีต่อความสามารถในการส่งออกของประเทศ (สกว.)
  • ผู้ประสานงาน ชุดโครงการเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • นักวิจัย โครงการศึกษาผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ AEC สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • นักวิจัย โครงการวิจัยผลกระทบด้านมหภาคและจุลภาคของการขยายอายุเกษียณ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
  • นักวิจัย โครงการประเมินผลกระทบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)
  • นักวิจัย โครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย : การศึกษาเชิงปริมาณด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • ที่ปรึกษา โครงการพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์ตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคและภาวะอุตสาหกรรมที่มีผลต่อ Credit Portfolio ของธนาคาร บมจ. ธนาคารกรุงไทย

ประสบการณ์ด้านการสอน

▪ เศรษฐศาสตร์มหภาคขั้นสูง (ศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2548-2563
▪ หลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค 2 (ศ.บ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2548-2560
▪ เศรษฐศาสตร์มหภาคเชิงประจักษ์ (ศ.บ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2555- 2563
▪ Advanced Macroeconomics, Topics in Business Cycle and Unemployment (Ph.D. Program), School of Economics and Public Policy, Srinakharinwirot University, 2011.
▪ Structure of Thai Economy (EEBA Program), Faculty of Economics, Kasetsart University, August-September 2010.

วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก

”A Thai Interindustry Dynamic Model With Optimization”
Committee Chair : Professor Clopper Almon

รางวัลและทุน

ทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Graduate Assistantship Award, University of Maryland, 2000-2004.