ธปท.ห่วงลงทุนต่ำ ต้นตอฉุดศักยภาพเศรษฐกิจไทย รับสหรัฐ-จีนเจรจามีผลเชิงบวก

ธปท.เผยดอกเบี้ยนโยบายต่ำ การส่งผ่านนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพน้อยลง ยันใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนธนาคารปรับดอกเบี้ยตาม แบงก์ต้องพิจารณาบริบทธุรกิจ-เศรษฐกิจโดยรวม รับแบงก์ไม่ปล่อยกู้ เหตุ Credit Cost ตัวปัญหา ไม่ใช่สภาพคล่อง ย้ำสงครามการค้าฉุดการลงทุนชะลอ ชี้เป็นต้นตอทำศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ระบุสหรัฐ-จีนเจรจามีผลเชิงบวกเศรษฐกิจไทย 0.1% จับตาครบกำหนด 90 วัน ลั่นไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวกรอบระยะปานกลาง มอง G-Token ต้องปลอดภัย-มีกฎหมายเทียบเคียงระดมทุนพันธบัตรรัฐบาล ห้ามใช้ชำระสินค้าและบริการ

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน ”Monetary Policy Forum 1/2568” ว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดยปกติการส่งผ่านนโยบายการเงินมีหลายช่อง ซึ่งผ่านช่องทาง “ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน” ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

แต่โดยปกติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะพิจารณาบริบทธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ในการปรับลดลง แต่ผลของดอกเบี้ยจะน้อยกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำและความไม่แน่นอน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยจะลดลง

ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินช่องทางอื่น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เป็นบรรทัดฐานในการกู้ยืม และค่าเงินด้วย มีผลวงกว้างพอสมควร จึงอยากให้มองภาพองค์รวม ไม่ใช่แค่ธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ย แต่ยังมีมาตรการทางการเงิน เช่น ช่วยเรื่องของโครงสร้างหนี้ หรือการช่วยในเรื่องของลดความเสี่ยง (Credit Risk) ที่สามารถทำควบคู่กับภาครัฐได้ อย่างไรก็ดี โดยปกติการส่งผ่านสู่ธนาคารพาณิชย์ และตลาดเงิน ค่าเงินบาทจะใช้เวลาราว 3-6 เดือน และการส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจจะใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป

ดังนั้น หากถามว่าเศรษฐกิจในรูปแบบไหน จึงจะไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกระสุน หรือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) จะเห็นว่า Policy Space มีรูมไม่เยอะหลังปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี หากดูประเทศอื่นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แรงกระตุ้นจากการลดจะน้อยลง และการส่งผ่านจะลดลง ซึ่งการเก็บ “Policy Space” เก็บไว้เพื่อใช้รองรับโลกในระยะข้างหน้าที่มีความเสี่ยงหลากหลาย และอาจมีความจำเป็นต้องใช้กระสุนช่วงนั้นน่าจะดีกว่า

“ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาต่ำแล้ว ผลอาจจะไม่เยอะ เช่น การลงทุน ลดดอกเบี้ยเยอะคนไม่อยากลงทุน เพราะหากนโยบายการค้าไม่ชัดเจน หรือคนเองก็ไม่อยากใช้จ่าย ดังนั้น Policy Space มีไว้รองรับสถานการณ์รุนแรง เช่น วิกฤตการเงินโลก เราจะมี Policy Space ไว้เป็น Buffer ไว้รองรับ เพราะตัวที่ฉุดเศรษฐกิจ คือ นโยบายการค้า ซึ่งไม่มีอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถอยู่ที่เดิมได้ เราจึงต้องมองเป็น Long Game ของนโยบายการเงินที่จะทำเพื่อรองรับระยะยาว”

ADVERTISMENT

ห่วงการลงทุนชะลอ ต้นตอฉุดศักยภาพเศรษฐกิจโตต่ำ 3%

นายปิติกล่าวว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Protential Growth) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5-3% หรือต่ำกว่า 3% เล็กน้อย โดยปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่เกิด Shock รอบนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการค้าการขาย หากโลกใหม่ไทยไม่ปรับตัว ทำให้ศักยภาพการเติบโตของไทยจะปรับลดลงได้อีก เนื่องจาก Shock รอบนี้เข้ามาในภาคการผลิต จึงต้องช่วยเร่งการลดต้นทุน การขยายตลาด เพื่อลดผลกระทบภาคการผลิต และมาตรการป้องกันสินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาแข่งขัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นห่วงค่อนข้างมาก คือ การลงทุนต่ำที่ต่อเนื่อง เป็นต้นตอที่ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยชะลอลดลง โดยในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ชะลอ คือ การลงทุน ทำให้เศรษฐกิจระยะสั้นชะลอ แต่ระยะยาวจะขึ้นกับการปรับตัวของธุรกิจและซัพพลายเชน และความชัดเจนของนโยบายการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ส่วนนโยบายการเงินเป็นประเด็นรอง ๆ เพราะผู้ประกอบการอาจไม่ได้ดูต้นทุน แต่เป็นเรื่องของความชัดเจนของนโยบาย และกฎระเบียบความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งนโยบายการเงินจะมาเป็นตัวเสริม

“การประเมินผลกระทบจาก Tariffs เป็น 2 ฉากทัศน์ จะเห็นว่าตัวเลขประมาณการจีดีพีปีนี้และปีหน้า เป็นตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ตัวเลขศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะศักยภาพขึ้นกับไทยจะมีการปรับตัวรับโลกข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งมีทั้งบวกเพิ่มหรือลดลงได้”

ยันไม่เห็นจีดีพีหดตัวติดลบ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1/68 ยังคงไม่เห็นผลกระทบจากสงครามการค้า หรือ Reciprocal Tariffs เพราะมีการเร่งส่งออกไปเยอะในช่วงก่อนหน้านี้ และยังคงต้องรอดูตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะออกมาด้วย

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

อย่างไรก็ดี ตัวเลขต่อไตรมาส (QOQ) จะติดลบหรือไม่ คงไม่เห็น แม้ว่า Shock จะเป็นใหญ่และยาว แต่ไทยเคยเจอช็อกใหญ่กว่านี้มาแล้ว สะท้อนจากฉากทัศน์ที่ไม่เห็นการเติบโตติดลบ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ในแต่ละไตรมาสเช่นกัน

แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อจากความเสี่ยงลูกหนี้

นายสักกะภพกล่าวว่า หน้าที่ของ ธปท. คือ การดูแลให้นโยบายการเงินเอื้อและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และดูแลสถาบันการเงินให้เป็นตัวกลางในการปล่อยสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ และช่วยเหลือลูกหนี้ จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไทยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค่อนข้างเยอะ และพร้อมดูแลลูกหนี้

อย่างไรก็ดี ในภาวะนี้จะมีคำถามว่า ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะเห็นว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันมีการชำระหนี้คืนหลังสถานการณ์ดีขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีรายได้ก็มีการชำระหนี้คืน แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน จะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ตัวต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ลดลง

เพราะต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนของสถาบันการเงินจะมาจากส่วนของ Credit Cost หากต้องการปล่อยสินเชื่อใหม่ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องพิจารณาเรื่องของ Credit Cost หากมีการค้ำประกันเข้ามาช่วยจะทำให้ความเสี่ยงลดลง ซึ่ง ธปท.ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง แต่เครื่องมือของ ธปท.จำกัดและดูในภาพกว้าง

“การลดดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้งตั้งแต่ปลายปีก่อน เราพยายามปรับกระบวนการเงินให้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่ใช่ราคา โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เอสเอ็มอี แม้ลดดอกเบี้ย ภาคธุรกิจก็คงไม่ได้รับปริมาณสินเชื่อเยอะขึ้น แต่เป็นเพราะปัญหาทางด้าน Credit Cost ของเขา โดยเราไม่ได้เป็นห่วงเรื่องของสภาพคล่อง เพราะในระบบธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่ห่วงการปล่อยสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ในการค้ำประกัน”

ชี้ G-Token ต้องปลอดภัย ห้ามชำระสินค้าบริการ

นายสักกะภพกล่าวถึงกรณีรัฐบาลออก G-Token ในการระดมทุนพันธบัตรรัฐบาลนั้น มองว่า การระดมทุนพันธบัตรรัฐบาลผ่าน G-Token ถือเป็นการระดมทุน อาจจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยของระบบ กฎหมายการดูแลเทียบเคียงกับการออกพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการดูแลประชาชนและสร้างความมั่นใจ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจอาจจะส่งผลกระทบได้ อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่อยากเห็นการนำ G-Token มาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ใช้ในการระดมทุนเป็นสำคัญ

ยังไม่มีภาวะเงินฝืด ชี้เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวกรอบปานกลาง

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้และปีหน้าลดต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% จาก Supply Shock ของราคาน้ำมันตลาดโลก และมาตรการค่าครองชีพ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด และเงินเฟ้อระยะปานกลางยังยึดอยู่ในกรอบ

สุรัช แทนบุญ
สุรัช แทนบุญ

ทั้งนี้ หากดูเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง จากการสำรวจใน 5 ปีข้างหน้า และปีที่ 6-10 เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6% รวมถึงเครื่องชี้วัดในตลาดการเงินอื่นเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% จากกรอบ 1-3% แม้ว่าเงินเฟ้อระยะสั้นจะปรับลดลงมาจาก Supply Side Shock ขณะเดียวกัน หากดูราคาสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อ 430 รายการ และในสินค้าและบริการ 80 หมวด การเปลี่ยนแปลง พบว่า 2 ใน 3 ที่ปรับลดลง และ 2 ใน 3 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด

ภาวะการเงินตึงตัว จับตาคุณภาพสินเชื่อบ้าน

นายสุรัชกล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อโดยรวมหดตัว ไม่ปรับดีขึ้น โดยสินเชื่อหดตัว -0.5% ทางด้านคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอี และคุณภาพสินเชื่อบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สินเชื่อและหนี้เสียขยายตัวสอดคล้องกับ Credit Risk ดังนั้น นโยบายการเงินปรับตัวสอดคล้องกับ outlook ระยะข้างหน้า และความเสี่ยงระยะข้างหน้า โดยนโยบายการเงินอยู่ฝนลักษณะผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามระยะถัดไป คือ ผลของการเจรจา และติดตามระยะยาวเรื่องของการปรับตัว ทั้งะดับ Micro และการเปลี่ยนแปลงระดับ Macro ด้วย

สหรัฐ-จีนเจรจาลดความตึงเครียด ผลเชิงบวกต่อไทย 0.1%

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีการลดภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) และเลื่อนออกไปอีก 90 วันนั้น มองว่าช่วยลดความตึงเครียดและมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจโลกและไทย ซึ่งดีกว่าที่ ธปท.ประเมินฉากทัศน์ไว้

โดยผลเชิงบวกต่อไทย คือ การค้าโลกไม่ลดลง ซึ่งไทยเป็นซัพพลายเชนของจีน และจีนส่งออกไปสหรัฐเร็วขึ้นก่อนครบกำหนด 90 วัน ส่งผลให้สินค้าที่จะทักเข้าไทย และสินค้าที่จะมีการแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดอื่นปรับลดลง

ปราณี สุทธศรี
ปราณี สุทธศรี

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยปรับลดลง โดยจากการประเมินฉากทัศน์ปีนี้ 2% และกรณีเลวร้ายเหลือ 1.3%

โดยความเสี่ยงมาจากภาคต่างประเทศ จึงมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ซึ่งสัญญาณกระทบการลงทุน ชะงักจากความไม่แน่นอน มูลค่าการส่งออกปรับลดลง แต่สินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงจากดีมานด์โลกชะลอ แต่เบื้องต้น เซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบ จะเป็น ยางล้อ และชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากมีการเก็บภาษีอัตรา 25% ไปก่อนหน้า

แต่สิ่งที่ห่วง คือ เซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลักเข้ามา เช่น เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมีปัญหาในเรื่องโครงสร้าง ซึ่งจะยิ่งเปราะบางมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของการเจรจาของไทยและประเทศอื่น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

“โดยรวมการเจรจาสหรัฐและจีน มีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย 0.1% อย่างไรก็ดี ต้องรอดูผลหลัง 90 วัน เพราะเป็นการลดชั่วคราว รวมถึงผลการเจรจากับประเทศอื่นด้วย ทำให้ 2 ฉากทัศน์ที่ประเมินไว้มีความเป็นไปได้ หรือเปลี่ยนแปลงขึ้นกับผลการเจรจาและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”