
ตลาดหลักทรัพย์ เผย ตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย. ผันผวนแต่น้อยกว่าภูมิภาค เพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อน ชี้ Fund Flow ไหลเข้าสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 6 หมื่นล้านบาท มองแนวโน้ม พ.ค. SET ดีขึ้น หลังดัชนียืนเหนือ 1,200 จุด รับสหรัฐ-จีน เจรจาลดภาษี 90 วัน ลุ้นเม็ดเงินโยกกองทุน LTF มา TESGX หนุนเพิ่ม
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ค. 2568 ถือว่าเป็นข่าวดีที่จีนและสหรัฐ ได้บรรลุการเจรจาลดภาษี 90 วัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นมาได้ เนื่องจากเป็นสัญญาณที่อาจจะหาทางออกได้ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีกับเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดทุนไทยที่ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน โดยจากที่ดัชนีเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ต่ำกว่า 1,200 จุด สามารถยืนเหนือ 1,200 จุดได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี รวมถึงกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ หรือ TESGX ที่เริ่มมีการเสนอขายออกมานั้น จะเริ่มเห็นการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันแสดงให้เห็นว่ามีดีมานด์ในการเข้าซื้อกองทุน LTF ที่สับเปลี่ยนมาเป็นกองทุน TESGX มากขึ้น
ทั้งนี้จะเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากในวันที่ 10 เมษายน ที่สหรัฐได้ประกาศเลื่อนการเก็บ Reciprocal Tariffs ไปอีก 90 วัน อีกทั้งมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตั้งแต่วันที่ 8-11 เมษายน ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยได้ในระดับหนึ่ง
ทำให้ SET Index มีความผันผวนน้อยกว่าหลายตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ หลังวันที่ 16 เมษายน SET Index ปรับเพิ่มขึ้น โดยจำนวนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปในหลายอุตสาหกรรม ขณะที่ Valuation ของหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
นอกจากนี้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2568 มีกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยแล้วประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่ามาจากความไม่เชื่อมั่นต่อดอลลาร์จากสงครามการค้า ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงมาที่ 2.8% ในปี 2568 และ 3.0% ในปี 2569 โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก สวนทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นในกรอบ 4.0-4.5% ขณะที่ผู้ลงทุนเริ่มขายพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากกังวลเศรษฐกิจสหรัฐ จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยตามคาดที่อัตรา 4.25% ถึง 4.50% นับเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน
นอกจากนี้ SET Index ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและความไม่แน่นอนทางการค้าทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณบริษัทจดทะเบียนไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ทำให้ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,197.26 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30เมษายน 2568 ปรับลดลง 14.5%
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
- มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,410 ล้านบาท หรือลดลง 11.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังคงมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 50.52% โดยมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ 14,588 ล้านบาท