แบงก์ชาติ ตอบคำถาม กนง.ลดดอกเบี้ย ทำไมธนาคารยังไม่ลดตาม

ธปท.

ธปท.เผยสาเหตุธนาคารหลายแห่งไม่ปรับลดดอกเบี้ยตาม หลังกนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ชี้ ผลดอกเบี้ยต่ำประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพลดลง ย้ำ ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยแบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่ รับต้นทุนความเสี่ยงลูกค้ายังสูง

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน ”Monetary Policy Forum 1/2568” ว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดยปกติการส่งผ่านนโยบายการเงินมีหลายช่อง ซึ่งผ่านช่องทาง “ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน” ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ แต่โดยปกติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะพิจารณาบริบทธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ในการปรับลดลง แต่ผลของดอกเบี้ยจะน้อยกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำและความไม่แน่นอน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยจะลดลง

ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินช่องทางอื่น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เป็นบรรทัดฐานในการกู้ยืม และค่าเงินด้วย มีผลวงกว้างพอสมควร จึงอยากให้มองภาพองค์รวม ไม่ใช่แค่ธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ย แต่ยังมีมาตรการทางการเงิน เช่น ช่วยเรื่องของโครงสร้างหนี้ หรือการช่วยในเรื่องของลดความเสี่ยง (Credit Risk) ที่สามารถทำควบคู่กับภาครัฐได้ อย่างไรก็ดี โดยปกติการส่งผ่านสู่ธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ ตราสารทุน และค่าเงินบาทจะใช้เวลาราว 3-6 เดือน และใช้เวลาการส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจจะใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวเสริมว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พบว่า มีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งที่ปรับลดดอกเบี้ยตาม แต่ยังมีธนาคารอีกหลายรายที่ยังไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยตาม จะเห็นว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้มีผลน้อยกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ติดตามดูผลจากนโยบายการเงินที่ส่งไป

“การส่งผ่านนโยบายครั้ง มีผลการศึกษาชัดเจนระบุไว้ว่า ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำมาก การส่งผ่านนโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพลดลง และในภาวะที่มีความไม่แน่นอนประสิทธิผลของดอกเบี้ยจะลดลงเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ดี หน้าที่ของธปท. คือ การดูแลให้นโยบายการเงินเอื้อและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และดูแลสถาบันการเงินให้เป็นตัวกลางในการปล่อยสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ และช่วยเหลือลูกหนี้ จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไทยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค่อนข้างเยอะ และพร้อมดูแลลูกหนี้

อย่างไรก็ดี ในภาวะนี้จะมีคำถามว่า ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะเห็นว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันมีการชำระหนี้คืนหลังสถานการณ์ดีขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีรายได้ก็มีการชำระหนี้คืน แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายการเงิน จะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ตัวต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ลดลง เพราะต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนของสถาบันการเงินจะมาจากส่วนของ Credit Cost หากต้องการปล่อยสินเชื่อใหม่ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องพิจารณาเรื่องของ Credit Cost หากมีการค้ำประกันเข้ามาช่วยจะทำให้ความเสี่ยงลดลง ซึ่งธปท.ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง แต่เครื่องมือของธปท.จำกัดและดูในภาพกว้าง

ADVERTISMENT

“การลดดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้งตั้งแต่ปลายปีก่อน เราพยายามปรับกระบวนการเงินให้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่ใช่ราคา โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เอสเอ็มอี แม้ลดดอกเบี้ย ภาคธุรกิจก็คงไม่ได้รับปริมาณสินเชื่อเยอะขึ้น แต่เป็นเพราะปัญหาทางด้าน Credit Cost ของเขา โดยเราไม่ได้เป็นห่วงเรื่องของสภาพคล่อง เพราะในระบบธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่ห่วงการปล่อยสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ในการค้ำประกัน”