
เลขาธิการบีโอไอ เผย “ฉางอาน-ไฮเซ่นส์” สนใจไอพีโอตลาดหุ้นไทย เชื่อสิ้นปีนี้สถิติคำขอรับบีโอไอเกิน 1 ล้านล้านบาท ด้าน “ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย” ตั้งทีมนัดหารือเพิ่มสิทธิประโยชน์-ปลดล็อกกฎระเบียบ ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เชื่อคุ้มค่าหนุนมาร์เก็ตแคป-สภาพคล่องตลาด
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานโครงการตลาดทุนพบภาครัฐ หัวข้อ “เลขาธิการ BOI พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ว่า เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ แนวทางการสนับสนุนและผลักดันให้บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ให้เข้ามาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย (SET) ซึ่งเมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 2568) บีโอไอได้นำ นายจู ฮวาหลง ประธานบริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในวันที่ 16 พ.ค. 2568 ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง
ซึ่งนอกจากที่ได้มีการพูดคุยเรื่อง R&D และการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค (Headquarter) ก็ได้มีการชวน “ฉางอาน” ให้เข้ามา Listed ในตลาดหุ้นไทยด้วย ซึ่งเขาก็ค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนี้ยังมี “ไฮเซ่นส์” ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีนอีกรายที่ให้ความสนใจจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้วย
“วันนี้จะเห็นว่าบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย บางส่วนที่ไม่ได้ลงทุนจากจีนโดยตรง จะใช้ Financial Center ผ่านสิงคโปร์หรือฮ่องกง เพราะมีความคล่องตัวมากขึ้น และพวกเขาก็มีความคิดในการระดมทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่เขาจะเลือกว่าจะ Listed ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือไทย ดังนั้นเราต้องทำงานร่วมกัน ในการเชิญชวนบริษัทต่างประเทศให้เขามาเลือก Listed ในตลาดหุ้นไทยให้ได้
โดยตัวอย่างบริษัทต่างประเทศที่เป็น FDI ที่ปัจจุบัน Listed อยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ที่เราพยายามพูดถึงในการเชิญชวนบริษัทใหม่ ๆ เข้ามา Listed คือ บมจ.เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA), บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) เป็นต้น” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว
เฟทโก้ตั้งทีมคุยบีโอไอ มิ.ย.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไม่มีซัพพลายหรือไม่มีกลุ่มเซ็กเตอร์ใหม่ ๆ เข้ามาจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยากได้อย่าง เซ็กเตอร์เทคโนโลยี ซึ่งถ้ามีเข้ามาเพิ่มจะช่วยเพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปได้มาก
ดังนั้นภายในช่วงเดือน มิ.ย. 2568 นี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยคงจะมีการตั้งทีมงานเพื่อรวบรวมข้อมูลไปหารือในการจัดทำโปรแกรมร่วมกัน เพื่อจะชักชวนให้บริษัทที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อแลกกับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้คงจะพูดคุยถึงการพิจารณาปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วย เพราะตอนนี้ยังมีหลายบริษัทที่อาจจะลงทุนอยู่ในไทย แต่ไป Listed อยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งหากปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ได้ เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นคงต้องรีบดำเนินการ
“ในส่วนนี้แม้ว่าไทยจะได้ภาษีน้อยลง แต่แค่มูลค่ามาร์เก็ตแคปที่เขาเข้ามา Listed ในตลาดหุ้นไทย รวมไปถึงสิ่งที่ทำให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น มองว่าค่อนข้างคุ้มค่า” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ด้านเลขาธิการบีโอไอ กล่าวถึงแผนบีโอไอว่า ตั้งแต่ที่มีการใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ มุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” จะเห็นทิศทางการลงทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกด้วยที่เป็นตัวเร่ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ซัพพลายเชนที่มีการดิสรัปชั่นในโลก ผลกระทบนี้มาตั้งแต่ช่วงโควิดต่อเนื่องถึงผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์
Q1 คำขอบีโไออพุ่ง 97% สิ้นปีนี้เกิน 1 ล้านล้าน
โดยพบว่าเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา สถิติคำขอรับการส่งเสริมบีโอไอสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ โดยมีจำนวน 3,070 โครงการ เงินลงทุนทะลุ 1 ล้านล้านบาท หรือราว 1,129,376 ล้านบาท และต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) โดยมีจำนวน 822 โครงการ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นเงินลงทุนรวม 431,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% และคาดว่าสิ้นปีนี้สถิติคำขอรับบีโอไอน่าจะเกิน 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ โครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมบีโอไอสูงสุด 5 อันดับ ประกอบด้วย 1. กลุ่มดิจิทัล 40 โครงการ เงินลงทุน 94,753 ล้านบาท 2. กลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 122 โครงการ เงินลงทุน 87,814 ล้านบาท 3. กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 72 โครงการ เงินลงทุน 23,499 ล้านบาท 4. กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 81 โครงการ เงินลงทุน 13,942 ล้านบาท และ 5. กลุ่มเกษตรและแปรูปอาหาร 61 โครงการ เงินลงทุน 12,719 ล้านบาท
นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ ก็มีการลงทุนสูงขึ้นมากโดยมี 102 โครงการ เงินลงทุน 17,517 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตตามดีมานด์ที่สูงขึ้น
คำขอ FDI พุ่ง 2.67 แสนล้าน
ขณะที่สถิติคำขอการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ช่วงไตรมาส 1/2568 มีมูลค่ารวม 267,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับ 1 คือ ฮ่องกง 135,159 ล้านบาท ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ จีน 47,308 ล้านบาท อันดับ 3 คือ สิงคโปร์ 38,075 ล้านบาท อันดับ 4 คือ ญี่ปุ่น 25,111 ล้านบาท และอันดับ 5 คือ ไต้หวัน 4,756 ล้านบาท
ซึ่งโครงสร้าง FDI ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนมาต่อเนื่อง จากยุคหลายสิบปีก่อน การลงทุนส่วนใหญ่มาจากฝั่งตะวันตก (อเมริกา, ยุโรป) แต่ช่วงสิบปีหลัง ฝั่งเอเชียมีบทบาทมากขึ้น โดยการลงทุนจากเอเชียมีสัดส่วนมากกว่า 80% โดยผู้ลงทุนหลักที่เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นในประเทศไทยคือ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อินเดีย
โดยท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยเองพยายามรักษาความเป็นกลาง เพราะเป็นพื้นที่ต้อนรับนักลงทุนจากทุกขั้วและทุกชาติ และเป็นพื้นที่ที่เป็นเซฟโซนของนักลงทุน จึงจะเห็นการลงทุนจากทั้งอเมริกาและจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยสหรัฐและจีนมีการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2563-2566
มุ่งส่งเสริม 5 อุตฯใหม่
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก มีทิศทางการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ 5 สาขาหลักคือ 1. อุตสาหกรรม BCG ยกตัวอย่าง ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ, ผลิต Cellulosic Enzyme, ผลิตเอทิลินชีวภาพ และผลิตอาหาร Plant-based ผลิตอาหารสัตว์พรีเมี่ยม โดยนับตั้งแต่ปี 2565-ไตรมาส 1/2568 มีการขอรับบีโอไอจำนวน 2,701 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 5.7 แสนล้านบาท
2. อุตสาหกรรมยานยต์ xEV และชิ้นส่วน มุ่งมั่นทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของภูมิภาคและท็อป 10 ของโลก โดยแผนการลงทุนใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย ประกอบด้วย 2.1. MAZDA มีแผนขยายลงทุนในไทยมากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลักรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) 1 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปทั่วโลก 2.2. NISSAN มีแผนเตรียมผลิต HEV รุ่นใหม่ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอาเซียน และจะรวมสายการผลิตในปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร
2.3. MITSUBISHI MOTOR เปิดตัว HEV รุ่นใหม่ รวมทั้งมีแผนจะเริ่มผลิตรถขนส่งขนาดเล็กแบบ BEV ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 และ 2.4. ISUZU จะเริ่มผลิตรถกระบะ BEV เพื่อส่งออกไปนอร์เวย์ในปีนี้ และอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยนับตั้งแต่ปี 2565-ไตรมาส 1/2568 มีการขอรับบีโอไอจำนวน 729 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 3.1 แสนล้านบาท
3. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยนับตั้งแต่ปี 2565-ไตรมาส 1/2568 มีการขอรับบีโอไอจำนวน 432 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 6.8 แสนล้านบาท
4. อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) โดยนับตั้งแต่ปี 2566-2567 มีเงินลงทุนในกลุ่ม PCB คิดเป็น 30% ของ E&E ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น หรือมีจำนวนโครงการรวม 123 โครงการ เงินลงทุนรวม 187,293 ล้านบาท
และ 5. อุตสหากรรมดิจิทัล โดยนับตั้งแต่ปี 2565-ไตรมาส 1/2568 มีการขอรับบีโอไอในกิจการ Data Center และ Cloud Service จำนวน 32 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 3.8 แสนล้านบาท เฉพาะไตรมาส 1/2568 เงินลงทุน 92,429 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ โดยจะมุ่งสู่ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคและสนับสนุน cloud First Policy”
นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการลงทุน International Business Center โดยนับตั้งแต่ปี 2558-ไตรมาส 1/2568 มีการขอรับบีโอไอมากกว่า 470 โครงการแล้ว รวมทั้งการขอรับบีโอไอเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม Smart & Sustainable Industry ในปี 2567 มีจำนวน 407 โครงการ เงินลงทุนรวม 35,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“โดยนับตั้งแต่ปี 2565-ไตรมาส 1/2568 มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 7,670 โครงการ สร้างงานให้คนไทยมากกว่า 5.1 แสนตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และเพิ่มรายได้จากการส่งออกมากกว่า 5.8 ล้านล้านบาท” เลขาธิการบีโอไอ กล่าวและว่า
5 ความเสี่ยงมีผลต่อการลงทุนไทย
ทั้งนี้จะมีความเสี่ยงสำคัญจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีผลต่อการลงทุนไทยในระยะข้างหน้าคือ 1. การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐกับไทย และผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย 2. อาจมีการชะลอการลงทุนในช่วงแรกเพื่อรอความชัดเจนของอัตราภาษี 3. การแข่งขันแย่งชิงการลงทุนในภูมิภาคที่รุนแรง 4. การพัฒนาปัจจัยรองรับการลงทุนอาจไม่ทันต่อความต้องการของนักลงทุน และ 5. ผลกระทบที่อาจะเกิดกับผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสต่อการลงทุนไทยคือ 1. โอกาสสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และการเป็นศูนย์กลาง (HUB) ด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค 2. โอกาสสร้างงานที่มีคุณค่าและยกระดับบุคลากรไทย 3. โอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะร่วมทุนกับต่างชาติ และโอกาสในการเข้าสู่ Global Supply Chain และ 4. โอกาสในการเร่งพัฒนาปัจจัยสนับสนุนดการลงทุน ให้มีความพร้อมสำหรับการเติบโตขอบงภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
ต้องสร้างอีโคซิสเต็มใหม่
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เพื่อเพิ่มโอกาสของไทยในการช่วงชิงการลงทุน ต้องสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ 6 ด้านคือ 1. คน ต้องสร้างบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์, PCB, Digital-AI, ดึง Talent ต่างประเทศ 2. พลังงานสะอาด โดยกลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่แข่งขันได้ เช่น Utility Green Tariff (UGT), Direct PPA 3. โครงสร้างพื้นฐาน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องทั้ง Physical และ Digital รวมทั้งขยายพื้นที่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม 5. Ease of Investment & Living โดยปฏิรูปกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รองรับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ และ 6. เร่งขยาย FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ลดพึ่งพาตลาดเดิม