แบงก์ทยอย ‘ลดดอกเบี้ย’ ขุนคลังบี้หั่นกำไร รับมือทรัมป์

Dealing with Trump แบงก์ทยอย ‘ลดดอกเบี้ย’ ขุนคลังบี้หั่นกำไร รับมือทรัมป์

ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.00% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ในรอบการประชุมเมื่อ 30 เม.ย. 2568 โดยหลังจาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ยจะเห็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดตามมา และเป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขา ทั้งเงินกู้และเงินฝาก โดยฝั่งเงินกู้ปรับลดเฉลี่ย 0.05-0.15% ต่อปี แต่การปรับลดรอบนี้ค่อนข้างช้า

ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์หั่นกำไรช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบภาษีสหรัฐ

แบงก์ทยอยลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้หลังผ่านไป 8 วันจาก กนง.ลดดอกเบี้ย ธนาคากรุงเทพ (BBL) เป็นแบงก์แรกที่มีการปรับลดดอกเบี้ย โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยสูงสุด 0.15% ต่อปี ดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 3-24 เดือน 0.15-0.20% มาอยู่ที่ 0.85-1.55% ต่อปี

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า กรุงไทยได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.15% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก 0.075-0.20% ต่อปี

“จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง และคาดการณ์ได้ยากจากนโยบายการค้าสหรัฐ และมาตรการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน”

นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจึงปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% ต่อปี เพื่อส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.05-0.20% ให้สอดคล้องกัน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า ทีทีบีมีความห่วงใยลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่ม จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% ต่อปี สอดคล้องกับมติ กนง. เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของลูกค้าและเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถตั้งรับกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับลดลง

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี ธนาคารพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ บัญชี ทีทีบี โนฟิกซ์ สูงสุด 0.40% ต่อปี ซึ่งเป็นบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ที่จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน และถอนเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความกังวลเรื่องสภาพคล่อง โดยจะมีผลวันที่ 1 มิ.ย. 2568

ช่วยลดภาระลูกหนี้ 4.9 พันล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในกลุ่ม D-SIBs หลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR, MLR, MOR ลงในกรอบ 0.05-0.15% ต่อปี ซึ่งรูปแบบของการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ในรอบนี้เป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขา โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปบางตัวลง ทั้งนี้ ผลดีของการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะอยู่ที่ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบ้านที่จะเข้าสู่ช่วงปรับดอกเบี้ยเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันอื่น ๆ จะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2568 สัดส่วนประมาณ 56.6% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ขณะที่ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจปรับลดลง 4,400-4,900 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานที่เริ่มคำนวณผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ ที่ลดลงในช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-ธ.ค. 2568

ขุนคลังบี้แบงก์หั่นกำไร

ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 ว่ากระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อเพิ่มการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจภาคส่งออกและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ

โดยให้สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่งปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

เบื้องต้นธนาคารออมสินจะออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ให้สถาบันการเงินอื่นไปปล่อยสินเชื่อต่อในอัตราไม่เกิน 3.5% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ส่งออกและซัพพลายเชน และธนาคารออมสินจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 2-3% จากอัตราที่เคยได้รับสำหรับลูกค้าธนาคารกลุ่มนี้

รวมทั้งให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ศึกษามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ส่งออก 20% จากดอกเบี้ยที่ชำระให้แต่ละงวด

“นอกจากนี้ จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งที่มีกำไรสูงให้เข้ามาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย” ขุนคลังกล่าว