เงินบาทแข็งค่าท่ามกลางเศรษฐกิจเปราะบาง แนวโน้มที่อาจไม่ยั่งยืน

The baht strengthens เงินบาทแข็งค่าท่ามกลางเศรษฐกิจเปราะบาง แนวโน้มที่อาจไม่ยั่งยืน
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ดร.กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, จงรัก ก้องกำชัย ธนาคารกสิกรไทย

ค่าเงินบาทในระยะนี้ปรับตัวแข็งค่า สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง

และสะท้อนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งตามปกติแล้วสถานการณ์เช่นนี้มักจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการซื้อขายตามอารมณ์ในตลาด (Sentiment Trade) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล และสกุลเงินเอเชีย ช่วยหนุนค่าเงินบาทในระยะนี้

อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และมีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป ดังเช่นที่เริ่มเห็นการเทขายพันธบัตรรัฐบาลอีกระลอก อีกทั้งราคาทองคำที่ปรับลดลงจากจุดสูงสุดต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความเสี่ยงข้างหน้าที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือความไม่แน่นอนของผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายหลังสิ้นสุดช่วงผ่อนผัน 90 วันของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะครบกำหนดวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ภาษีนำเข้าอาจกลับมากดดันเศรษฐกิจและส่งผลให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่า

ดังเช่นในช่วงก่อนหน้านี้ที่การเคลื่อนไหวของทรัมป์ที่สร้างความกังวลต่อตลาดมักนำสู่การอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว แตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาแล้วถึง 3 ครั้ง ใน 6 เดือนที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในประเทศแล้ว ค่าเงินบาทยังมีโอกาสเห็นการอ่อนค่าจากระดับปัจจุบัน โดยเฉพาะหากผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐเริ่มชัดเจน

โดยเฉพาะเมื่อการส่งออกปี 2568 คาดว่าจะหดตัว จากแรงกดดันของภาษีที่อาจสูงถึง 36% แม้นำเข้าชะลอลงด้วย แต่ดุลการค้าคาดว่าเกินดุลลดลง

และจากแบบจำลองของเราพบว่า การส่งออกลดลง 1 พันล้านดอลลาร์ จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า 9 สตางค์ ขณะที่การนำเข้าลดลงเท่ากัน หนุนให้เงินบาทแข็งค่าเพียง 5 สตางค์ สะท้อนภาพรวมเงินบาทยังมีแนวโน้มพลิกมาอ่อนค่า มากกว่าแข็งค่าได้ต่อเนื่อง