เดินแผนแก้หนี้ครัวเรือน 16.5 ล้านล้านบาท หวั่นพายุเศรษฐกิจถล่มซ้ำเติมรายได้ประชาชน เครดิตบูโรเผยไตรมาส 1/68 ตัวเลข “หนี้เสีย” ทรงตัวแต่เพราะติดเขื่อนปรับโครงสร้างหนี้ยอดทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท กระทุ้ง ธปท.รื้อเกณฑ์แก้หนี้ให้ยืดหยุ่น หารือรัฐมนตรีคลัง ปลดล็อกให้ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 เปิดกว้างดึง “ลูกหนี้ดี” บนสัญญาปรับโครงสร้างมีสิทธิเข้าร่วม “ปิดบัญชี” หนี้เสียต่ำกว่าแสนบาท 3 ล้านคน แบบไม่เสียประวัติ-แบงก์รัฐใส่เม็ดเงินช่วยเหลือเพิ่ม ย้ำเป็น “รีไซเคิลหนี้ครัวเรือน” ให้มีความสามารถจ่ายหนี้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คืนชีพลูกหนี้ NPL 5 ล้านคน
แก้หนี้โจทย์ใหญ่ประเทศไทย
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร (NCB) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 1/2568 อยู่ที่ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท “ทรงตัว” ไม่ได้ขยับมาก ส่วนหนึ่งเพราะสินเชื่อไม่โต รวมทั้งมีการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4/2568 ขยายตัวสูง 3% ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.4% อย่างไรก็ดี ปีนี้หลายสำนักคาดว่าจีดีพีไทยจะโตระดับ 1.6-1.8% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนก็จะขยับขึ้นมาก
ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย มีความเสี่ยงมากขึ้นจากที่เจอมาตรการภาษีของสหรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเปราะบางมากขึ้น เรื่องการแก้หนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทางเครดิตบูโรก็ได้มีการเข้าไปหารือและนำเสนอข้อมูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พิชัย ชุณหวชิร) สะท้อนถึงข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ของหนี้ภาคครัวเรือนและแนวทางแก้ไข
เปิดไส้ใน “หนี้ครัวเรือน”
ทั้งนี้ หากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนบนฐานข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ที่มีอยู่ 13.5 ล้านล้านบาท โต 0.5% หรือแทบจะไม่โตเช่นกัน โดยพบว่า มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เสียเกิดจากโควิด-19 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ เป็นกลุ่มหนี้เสียที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ประมาณ 1 ล้านล้านบาท และหนี้ที่กำลังจะเสีย คือเริ่มค้างชำระ (SM) อีกราว 5.7 แสนล้านบาท
รวมทั้งลูกหนี้ที่กำลังจะเสีย ที่ต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (DR) ตามมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2567-มีนาคม 2568 กลุ่ม DR มีจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท โดยไส้ในลูกหนี้กลุ่มนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
โดยสินเชื่อรายย่อยปัจจุบันที่ติดลบอยู่ ไม่ได้เป็นการ “ลดหนี้ครัวเรือน” แต่เป็นการ “รีไซเคิลหนี้ครัวเรือน” ให้เป็นไปตามศักยภาพของการชำระหนี้ที่แท้จริงของคนที่เป็นลูกหนี้ ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
กระทุ้ง ธปท.รื้อเกณฑ์แก้หนี้
นายสุรพลกล่าวว่า หนี้เสียในช่วงไตรมาสแรกไม่โต เพราะกฎกติกาคุมไม่ให้โต โดยมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ หากลูกหนี้จะไหลเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จะโดนเรียกปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR เปรียบเสมือน “ตั้งกำแพงสูง” เป็น “การสร้างเขื่อน” ป้องกัน
แต่กฎกติกาการสร้างเขื่อนป้องกัน ทั้ง TDR และ DR ควรปรับปรุง เนื่องจาก ธปท.ได้มีการปรับกติกามาตรฐาน TFRS9 เมื่อปี 2566 ระบุว่า หากสถาบันการเงินพบว่าลูกหนี้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องจัดชั้นหนี้ทันที หากค้างชำระ 30 วัน จะจัดเป็น SM และปรับโครงสร้าง โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 3-6 เดือน แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีใครรู้จะเกิดอะไรขึ้น รายได้คนไม่แน่นอน จึงต้องการกติกายืดหยุ่น ต้องไม่ขึงตึงเกินไป
ติดล็อกไม่ได้เข้าคุณสู้เราช่วย
“ช่องโหว่ส่วนหนึ่งของโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ที่มีเป้าหมาย 1.9 ล้านคน แต่มีคนเข้าโครงการผ่านคุณสมบัติประมาณ 40% และลูกหนี้ได้เซ็นสัญญาจริงเพียง 2.7-2.8 แสนราย ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้และมีการเรียกร้องเยอะ คือ กลุ่มคนที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้บนสัญญา TDR และ DR เป็นคนที่สู้ แต่เป็นชำระหนี้ดี เป็นคนดีบนสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จึงเข้าโครงการคุณสู้ เราช่วย ไม่ได้ นี้คือกลุ่มลูกหนี้จำนวนมากราว 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นต้องตอบโจทย์เรื่องของคนกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ด้วย”
ในขณะที่โครงการซึ่งใช้เงินจากกองทุนฟื้นฟู (FIDF) ที่ยังเหลืออยู่อีกกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อเป้าหมายต้องการแก้หนี้ เราควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิเข้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ด้วย
ปลดล็อกเงื่อนไขช่วย “ลูกหนี้”
นายสุรพลกล่าวว่า จากที่ได้เข้าพบ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”เฟส 2 จะต้อง “ยืดหยุ่นกว่า กว้างกว่าเดิม และเสริมการแก้หนี้” รวมถึงให้กวาดลูกหนี้กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ TDR และ DR เข้าโครงการ เพราะประเด็นสำคัญคือว่ากลุ่มนี้ “ลูกหนี้ดี-เคยมีปัญหา และกำลังสู้อยู่” แต่เราไม่ช่วย ดังนั้น เชื่อว่าจากที่โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 1 ที่ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ก็เชื่อว่าจะไม่ได้มีผลหรือทำให้ลูกหนี้เข้าโครงการมากขึ้น
ตอนนี้รัฐบาลเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ เท่าที่ทราบก็กำลังปรับปรุงมาตรการ คาดว่าเฟส 2 ที่จะเปิดออกมาจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในแง่ของการเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกหนี้เข้าโครงการได้มากขึ้น รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถรับสภาพกับเงื่อนไขได้ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ เรื่องการแก้หนี้ครัวเรือนจะเป็นประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังจะเจอพายุ เพื่อช่วยประคองให้ประชาชนและธุรกิจรายย่อยมีเสื้อกันฝน
ทั้งนี้ หากดูคนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ราว 1 ล้านคน คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ประมาณ 40% แต่ไม่เข้าร่วมจากเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.เกณฑ์การห้ามกู้ใหม่เป็นระยะเวลา 1 ปี ยกเว้นเป็นลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี 2.เงื่อนไขต้องชำระหนี้ตรง 3-6 งวด ถ้าเดือนไหนผิดพลาดจ่ายช้าต้องเริ่มต้นใหม่ ก็ถูกเลิกสัญญาไปเลย ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คิดว่าควรยืดหยุ่น เช่น ปีแรกผ่อนชำระ 50% อาจจ่ายช้าได้สัก 1-2 งวด หรือปีที่ 2 ผ่อน 70% ก็อาจให้โอกาสจ่ายช้าสัก 3 งวด ซึ่งภาวะแบบนี้ความไม่แน่นอนของรายได้สูง ก็ทำให้ลูกหนี้ไม่พร้อมเข้าร่วม
รวมถึงปัญหาสินเชื่อบ้านที่มีผู้กู้ร่วม กรณีเข้าโครงการจะต้องให้ผู้กู้ร่วมมาเซ็นสัญญา “ไม่ก่อหนี้ใหม่” ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้กู้ร่วมจะไม่ยอมเซ็น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่เข้าร่วมโครงการ
ถอดโมเดลแก้หนี้ IMF
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรสะท้อนว่า หากดูรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุด ที่พูดถึง “หนี้ครัวเรือนไทย” มีเรื่องน่าสนใจ 2-3 เรื่อง คือ วิธีการ “ยกหนี้ให้ โดยไม่กระทบวินัย” และ “กฎหมายฟื้นฟูของบุคคลธรรมดา” ซึ่งตรงกับประเทศไทยที่มีแนวคิดว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นหนี้เสีย และเป็นลูกหนี้รายเล็ก ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญแล้ว ยกออกมาจากงบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารได้หรือไม่ และเอามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ คล้ายกับมาตรการ “ปิด จ่าย จบ” ของแบงก์ออมสิน ที่มีหนี้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาท แค่มาจ่ายนิดหนึ่ง แสดงตัวตน ธนาคารก็จะ “ยกหนี้” แต่กรณีนี้ไม่ใช่ “การตัดหนี้สูญ” แต่เป็นการ “ปิดบัญชี” เพราะจะได้ไม่เสียประวัติ
ปลดล็อกลูกหนี้ต่ำแสนบาท
นายสุรพลกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลก็มีแนวคิดเรื่องการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ไม่ถึง 1แสนบาท โดยรัฐมนตรีคลังก็ได้พูดไปบ้างแล้ว โดยข้อเสนอของเครดิตบูโรคือ จากหนี้เสียราว 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 5.14 ล้านคน พบว่ามี 3.3 ล้านคน มีหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท คิดเป็น 10% ของหนี้เสียทั้งหมด หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้ว เพราะเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ธนาคารได้โยชน์ทางภาษี 20% ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้มูลค่าหนี้เท่ากับ 0 บาท แต่ธนาคารยังคงมีสิทธิเรียกร้องทางกฎหมาย
หากสามารถโยกหนี้ก้อนนี้ โดยการโอน/ซื้อ กรณีโยกมาในมูลค่า 1% ของมูลหนี้ เท่ากับใช้เงิน 1,200 ล้านบาท หรือซื้อราคา 5% ของมูลหนี้ เท่ากับใช้เงิน 6,000 ล้านบาท
โดยหลังโยกหนี้ออกมา และประกาศให้คนเหล่านั้นมาแสดงตัวตน ซึ่งบางคนอาจหนีไปแล้ว ให้มาจ่ายหนี้ 5-6 บาท หรือเท่าไรก็ได้ และ “ปิดบัญชี” ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้มีประวัติติดเครดิตบูโร (3 ปี) แต่กรณีนี้เป็นการ “ปิดบัญชี” โดยมาตรการรัฐ ก็สามารถให้อยู่ในลูกหนี้รหัส 50 เป็นลักษณะ “Credit Lock”
“แรงจูงใจของโครงการนี้คือ เขาเป็นหนี้ในระบบต่ำกว่าแสนบาท แต่เขาเข้ามาจ่ายนิดหนึ่ง ปิดบัญชีด้วยรหัส 50 โดยลูกหนี้สามารถกู้เงินจากแบงก์รัฐไปเคลียร์หนี้นอกระบบ เพราะเชื่อว่าในจำนวน 3.3 ล้านคน จะมีมากกว่า 1 ล้านคนที่มีการกู้หนี้นอกระบบ”
แก้ปม “Moral Hazard”
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรกล่าวว่า โดยลูกหนี้จะต้องพิสูจน์ตัวเองทำสัญญาผ่อนเงินกู้แบงก์รัฐภายใน 12 เดือน ซึ่งถ้าทำได้ 12 เดือนจบ ลูกหนี้รายนี้ก็จะเป็นลูกหนี้ปกติ เพราะเขาพิสูจน์ตัวเองว่า เขาสู้ หลวงช่วย และเขาก็ผ่อนได้ดีอย่างน้อย 12 เดือน ดังนั้นก็จะช่วยแก้เรื่อง Moral Hazard และจะสามารถปล่อยคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ดี กลุ่มหนี้เสียต่ำกว่า 1 แสนบาทที่มีอยู่ 1.2 แสนล้านนั้น มีจำนวน 8 หมื่นล้านบาท ที่อยู่กับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ซึ่งยังมีประเด็นว่าน็อนแบงก์ที่ไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคาร ซึ่งในทางกฎหมายเอื้อให้เอาเงิน FIDF มาช่วยได้หรือไม่ หากไม่ได้ ตรงนี้ก็มีเรื่องของงบประมาณที่จะต้องดูว่าจะมาจากไหนได้
คืนชีพลูหนี้NPL 5 ล้านคน
อย่างไรก็ดี หากแก้หนี้เฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ 3.3 ล้านคนอย่างเดียว การแก้หนี้ไม่จบสิ้น เพราะยังมีอีกกว่า 2 ล้านคน ที่มีหนี้มากกว่า 1 แสนบาท จำเป็นต้องใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ไม่ใช้กติกาแบบทุกวันนี้ เพราะจะ “ติดกับดัก” คือเกณฑ์แบงก์ชาติ ที่แบงก์ต้องพิสูจน์ทราบว่าลูกหนี้มีศักยภาพ รายได้มั่นคง ตามมาตรฐาน TFRS9 ว่าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ตลอดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ในภาวะแบบนี้
โดยรอบนี้อาจจะต้องคิด และทำให้ครบ เพราะหนี้เสียก้อนนี้ประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็น 10% ของแรงงานไทยทั้งหมดกว่า 40 ล้านคน และปัจจุบันเรามีอยู่ 5 ล้านคน ที่ไม่สามารถไปไหนได้ เศรษฐกิจไทยจะไปไหวหรือไม่
“เรารู้อยู่แล้วว่าพายุกำลังจะมา คนไม่มีตังค์ซื้อเสื้อกันฝน ไม่มีตังค์ซื้อฝาบ้านมาปิดประตูหน้าต่าง เราจำเป็นต้องให้เครื่องไม้เครื่องมือเขาตอนนี้ สถานการณ์รายได้มองไปข้างหน้า มีพายุที่จะเข้ามา ทำให้เราไม่มีรายได้ หนี้ที่เกาะหลังเราอยู่ ต้องการมาตรการที่ดึงน้ำหนักลงมา คนแบกหนี้ไว้ข้างหลัง และเดินออกไปข้างหน้าทำมาหากิน และมีพายุฝนฟ้าอยู่ข้างหน้า หากมีคนมาช่วยเราเอาหนี้ข้างหลังออกหน่อย เพื่อให้เคลื่อนตัวได้สะดวก ไม่อย่างนั้นพายุมาเจ๊ง”
ลุยแก้หนี้ “สหกรณ์ออมทรัพย์”
นายสุรพลกล่าวว่า การแก้หนี้ที่จะต้องดำเนินการพร้อมกันก็คือ ส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็มีนโยบายให้สหกรณ์ปรับโครงสร้างหนี้โดยลดดอกเบี้ยจากปกติ 6.5% ต่อปี ลงเหลือ 4.75% ต่อปี และปล่อยสินเชื่อเพิ่มเพื่อให้ลูกหนี้สหกรณ์ไปปิดบัตรเครดิตที่คิดดอกเบี้ย 16% ต่อปี และปิดสินเชื่อส่วนบุคคล ดอกเบี้ย 25% ต่อปี ปิดหนี้ให้หมด และรวบหนี้มาอยู่ที่สหกรณ์ และยืดหนี้จนถึงอายุ 85 ปี หมายถึงใครตายก่อนหมดหนี้ ตายครบ จบหนี้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ไปก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ดังนั้น เพื่อให้ป้องกันปัญหาลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่ม กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเครดิตบูโร เพื่อส่งข้อมูลลูกหนี้มาอยู่ที่เครดิตบูโร เพื่อกั้นไม่ให้คนนี้ไปก่อหนี้กับสถาบันการเงินอื่นในระบบของเครดิตบูโร โดยเรียกว่า “Credit Lock”
สหกรณ์ต้นแบบ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์คุณครู สระบุรี และจะมีการจัดอบรมและจะไหลมาอีก เพราะมีคนที่กู้เงินสหกรณ์มีอยู่ราว 3-4 ล้านคน
จับตา ครม.ตั้งกรรมการแก้หนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตอนนี้คณะกรรมการแก้หนี้รายย่อยและเอสเอ็มอียังมีอยู่ โดยสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้ และในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานชุดนี้ เนื่องจากการแก้หนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้มีการแต่งตั้งใครขึ้นมา ซึ่งกำลังมีการพิจารณาว่าอาจจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้า