เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า 4 ปัจจัยสำคัญ-ราคาทองตลาดโลก

เงินบาท-ทองคำ

เงินบาทอ่อนค่า กสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาสัปดาห์หน้า 4 ปัจจัยสำคัญ ทั้งตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของไทย สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าตามราคาทองคำในตลาดโลก ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ

เงินบาทอ่อนค่าตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณขายสุทธิของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นรับข่าวสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงปรับลดอัตราภาษีศุลกากรฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจากคำกล่าวของรมว. คลัง สหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการทำให้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ เป็นประเด็นในการหารือเพื่อเจรจาการค้า

เงินบาทแข็งค่ากลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณอ่อนแอกดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี กรอบการฟื้นตัวของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังมีแรงขายทำกำไรทองคำในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,361 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 19,880 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 18,818 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,062 ล้านบาท)

กราฟค่าเงินบาท
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับสัปดาห์ถัดไป หรือระหว่างวันที่ 19-23 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของไทย สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ

ADVERTISMENT

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอินโดนีเซีย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. และดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยหลุดแนว 1,200 จุด แม้ช่วงต้นสัปดาห์จะมีแรงหนุนจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน

ดัชนีตลาดหุ้นไทย
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขานรับข่าวสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้นเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการตกลงปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในอัตราที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้าและกระตุ้นแรงซื้อหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงาน

อย่างไรก็ดี หลังจากตอบรับประเด็นบวกดังกล่าวไปพอสมควร ดัชนีหุ้นไทยพลิกร่วงในเวลาต่อมา โดยเผชิญแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์ หุ้นกลุ่มพลังงานที่มีปัจจัยลบเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง และหุ้นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานซึ่งผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับน่าจะมีแรงขาย LTF ที่ครบกำหนดที่ไม่ได้ย้ายไปลงทุนในกองทุน Thai ESGX เข้ามากดดันเพิ่มเติม ดัชนีหุ้นไทยกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วงท้ายสัปดาห์ แม้มีปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ว่ารมว.พาณิชย์ไทยได้พบปะหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แต่นักลงทุนมีความระมัดระวังระหว่างรอติดตามตัวเลขจีดีพีไทยที่จะประกาศในวันที่ 19 พ.ค. นี้

ในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,195.77 จุด ลดลง 1.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,122.66 ล้านบาท ลดลง 2.63% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.43% มาปิดที่ระดับ 248.08 จุด

ส่วนสัปดาห์ถัดไป (19-23 พ.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,185 และ 1,165 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,220 และ 1,230 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของไทย ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย.ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร