
กรุงศรีอยุธยา เผย ธปท.สั่งแบงก์ทำแบบประเมินผลกระทบปัจจัยภาษีทรัมป์ ภายใต้สมมุติฐานกรณีพื้นฐาน-เลวร้ายต่อพอร์ตลูกค้าและธนาคาร พร้อมประเมินธุรกิจรายใหญ่ยังท้าทาย แต่ยังเป็นเซ็กเตอร์เดียวที่โต ตั้งเป้าปี’68 โต 5-7% คาดครึ่งหลังของปีเห็นดีลทยอยออกมาให้เห็น รับลูกค้าชะลอลงทุน เพื่อรอดูนโยบายการค้า-ทิศทางเศรษฐกิจ-นโยบายภาครัฐ
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ธนาคารทำแบบประเมินผลกระทบ (Stress Test) จากปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ภายใต้สมมุติฐานต่าง ๆ เช่น กรณีพื้นฐาน (Based Case) การขึ้นภาษีอยู่ที่ 10% และกรณีเลวร้าย (Worst Case) อยู่ที่ 36% รวมถึงกรณีกลาง (Middle Case) เฉลี่ยอยู่ที่ 18% จะมีผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อลูกค้าและสถานะของธนาคารอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ค่อนข้างยาก แต่ธนาคารได้ส่งแบบประเมินให้ธนาคารเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจขนาดใหญ่ปี 2568 ยังคงมีความท้าทายค่อนข้างสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงหลายสำนักปรับลดคาดการณ์เติบโตลง และปัจจัยเรื่องของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่าง 90 วัน เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าอัตราภาษีจะอยู่ที่เท่าไร โดยมองว่าจะเป็น Game Changer ของการค้า รวมถึงยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเป็นเซ็กเตอร์ที่พยายามขยายตัว โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 5-7% จากปีก่อนที่ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1/2568 ที่ผ่านมาภาพรวมยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้น่าจะเห็นอัตราการเติบโตได้ราว 5% ส่วนหนึ่งมาจากแผนที่ธนาคารทำไว้ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มได้ออกดอกผลแล้ว
ดังนั้น ธนาคารยังคงต้องติดตามธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากครบกำหนดเลื่อนการขึ้นภาษี 90 วันของสหรัฐ และนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะต้องดูสินเชื่อ 2 ส่วน คือ สินเชื่อใหม่ และสินเชื่อเก่าที่ครบกำหนดชำระหนี้ ซึ่งยอมรับว่ามีสินเชื่อที่จะครบกำหนดชำระคืนพอสมควร อย่างไรก็ดี สินเชื่อครบกำหนดส่วนนี้มีลูกค้าบางส่วนที่ต้องการเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อมาเป็น “ESG Finance” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นความต้องการส่วนเพิ่ม (Extra Demand) ที่เข้ามาช่วย
ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่ ต้องยอมรับว่าลูกค้าชะลอการตัดสินใจลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ (Wait & See) และทิศทางการค้าจากภาษี (Tariffs) อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะมีดีลที่จะออกมาได้ ทั้งเรื่องของการควบรวมกิจการ (M&A) ที่ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ในเรื่องเซ็กเตอร์โครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน รวมถึงการลงทุนในประเทศ (Inbound) และต่างประเทศ (Outbound) การขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องรอติดตามการตัดสินใจของลูกค้าในขั้นสุดท้าย ซึ่งความเชื่อมั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ
ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าเซ็กเตอร์ที่ยังไปได้ดีและโฟกัสอยู่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม, เฮลท์แคร์, อาหาร-เครื่องดื่ม และพลังงาน เป็นต้น ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นเซ็กเตอร์ที่ค่อนข้างยาก ทั้งแนวราบเจอปัญหาน้ำท่วม คอนโดมิเนียมมีปัจจัยแผ่นดินไหว กลุ่มออฟฟิศที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าความต้องการ (Over Supply) และโรงแรมยังต้องพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยว ดังนั้น ระยะสั้นต้องประคองลูกค้ากลุ่มนี้ และรอดูดีมานด์จะกลับมาเมื่อไรก่อนจะพิจารณาการปล่อยโปรเจ็กต์หรือสินเชื่อใหม่
สำหรับคุณภาพสินเชื่อ จะเห็นว่าธนาคารให้ความสำคัญมาต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยหากลูกค้ามีปัญหา ธนาคารจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือและประคับประคองลูกค้า ขณะเดียวกันธนาคารไม่เน้นการปล่อยสินเชื่อเติบโตแบบ Quick Win ทำให้พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารมีคุณภาพ
ขณะที่การระดมทุนผ่านช่องตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) นั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีความท้าทายในเรื่องของธรรมาภิบาล ทำให้คนลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ แต่ปัจจุบันนักลงทุนมีการคัดเลือกและดูบริษัทมากขึ้น ซึ่งธนาคารมองว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเป็นแหล่งเงินทุนของบริษัท โดยธนาคารพยายามให้ลูกค้าใช้ทั้งวงเงินสินเชื่อและตลาดบอนด์ ส่วนต้นทุนเป็นไปตามภาวะตลาดและเศรษฐกิจโดยรวม
“ในเรื่องของสินเชื่อในปีนี้เราคงจะไม่ได้เน้นสร้างการเติบโตที่เป็นตัวเลขมาก แต่จะเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า ไม่เน้น Quick Win แล้วก็จะเน้นดูแลเชิงลึกมากขึ้น และความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินเชื่อของธนาคารก็ถือ in Line ในเป้าหมายอยู่ แต่ทั้งปีคาดว่าจบได้ที่ 5% จากเป้าหมาย 5-7% ถือว่าหรูมากแล้ว เพราะยังต้องติดตามปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ว่าในท้ายที่สุดไทยจะโดนเก็บในอัตราเท่าไหร่ และสหรัฐตีความอย่างไร เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและส่งผลต่อการตัดสินใจด้านการลงทุนของธุรกิจด้วย“